แม้จะต้องกลั้นน้ำตาขณะร้องบทกลอนมโนราห์ แต่สำหรับนายเฉลิม แก้วพิมพ์ หรือ มโนราห์เฉลิม ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผ่านบทกลอนที่แต่งขึ้นเอง เพื่อแสดงความจงรักภักดี
เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน มโนราห์เฉลิมเคยเป็นหนึ่งในมโนราห์ 3 คนที่ได้รำถวายหน้าพระพักตร์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทำพิธียกฉัตรทองคำยอดเจดีย์ ที่วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยหลังการแสดงเสร็จสิ้นพระองค์ทรงตรัสถามถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดต่างๆ และตรัสถามว่า รำอะไร ทำไมท่ารำถึงไม่เหมือนใคร และรำมานานหรือยัง จึงตอบว่า รำมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
พระองค์ทรงตรัสถามต่อว่า แล้วสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสามารถรำได้หรือไม่ อยากให้สอนให้รำด้วย ยังความปลาบปลื้มมาสู่มโนราห์เฉลิมเป็นยิ่งหนัก จึงเอื้อมมือไปลูบพระบาทแล้วนำมาลูบศีรษะของตัวเอง พระองค์ทรงแย้มพระสรวล ความประทับใจในวันนั้นยังคงตราตรึงมาถึงทุกวันนี้และดีใจที่ได้เกิดเป็นเศษธุลีใต้รองพระบาทของรัชกาลที่ 9
"ขอให้สืบสานศิลปะการรำมโนราห์ ซึ่งเป็นหัวใจของคนภาคใต้ให้ยังคงอยู่" คือพระกระแสรับสั่งที่ทรงตรัสต่อมโนราห์เฉลิม ทำให้วันนี้ มโนราห์เฉลิมในวัย 76 ปีของยังอุทิศตนเพื่อการสอนศิลปะพื้นบ้านให้เยาวชนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลูกหลานของมโนราห์เฉลิมส่วนใหญ่ก็ยังคงสานต่อศิลปะแขนงนี้
ไม่เพียงแต่มโนราห์เฉลิมเท่านั้นที่ยังคงจดจำภาพความประทับใจครั้งนั้นได้ แต่พระสงฆ์และชาวบ้านรอบบริเวณวัดช้างไห้หลายคนก็ยังคงถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรมาสู่ลูกหลาน หลายคนจึงตั้งใจที่จะสานต่อการทำความดีและยึดแนวทางอยู่อย่างพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทำพิธียกฉัตรทองคำยอดเจดีย์ที่วัดช้างไห้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2520 และพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในองค์พระเจดีย์วันที่ 10 ส.ค.2530 ซึ่งปัจจุบันเจดีย์แห่งนี้ก็ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งในและนอกพื้นที่