วันนี้ (1 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 2 วันหลังลงนามตอบรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงความเชื่อมั่นว่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกล่าวย้ำที่จะเดินหน้าปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดรับกับคำถามพ่วง และชอบด้วยผลประชามติใน 2 ประเด็น โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องตีความเพิ่มเติมเป็นอื่นอีก
ระหว่างที่มีคำถามมากหลายเกิดขึ้น แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปฏิเสธที่จะตอบ โดยเฉพาะกับข้อสังเกตที่สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจ ส.ว.ชุดแรก 250 คนจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯคนนอก กรณีให้สิทธิ์ ส.ว.เข้ามาร่วมลงชื่อ ขอยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินี้
ถ้าสรุปความจากมาตรา 272 หลังการปรับแก้แล้ว เป็นขั้นตอนการเลือกนายกฯ คือ การเลือกครั้งแรก..ควรเป็นไปตามวรรคแรก โดยที่ประชุมร่วมของทั้งสองสภานั้น ส.ส.จะเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่ได้ส.ส. 25 ที่นั่งขึ้นไป พรรคใดได้ ส.ส.ไม่ถึง ก็จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้เหมาะสม เข้าร่วมโหวตชิงได้ และจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2554 จะมีพรรคเพื่อไทย,ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเท่านั้น
นั่นหมายความว่าตกลงกันได้ จัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ และเลือกนายกฯได้ ก็จะมี ครม.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของกลไกต่าง ๆ ตามร่างรัฐธรรมนูญไปด้วย แต่ถ้าเลือกไม่ได้ มิหนำซ้ำยังเกิดเหตุขัดแย้งขึ้น สถานการณ์นี้ อาจสะท้อนภาพชัด เมื่อประกอบกับ ถ้อยแถลงของรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย "นายวิษณุ เครืองาม" ชี้ให้เห็นถึงการใช้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ปัญหาทางตัน ด้วยการยุบสภาฯ
แต่ตามกลไกของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังปรับแก้นี้ ส.ส.และส.ว.น่าจะเลือกเดินหน้า ตามวรรค 2 คือ ร่วมกันเข้าชื่อให้ได้ 375 เสียง เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา ขอยกเว้น การเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ก่อนจะเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เป็นครั้งที่ 2 แต่ภายใต้ภาวะการณ์นั้น ส.ส.ส่วนหนึ่ง หรือ 125 คน เห็นพ้องกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ 250 คนแล้ว
การลงมติ เพื่อเลือกนายกฯคนนอก ด้วยเสียง 500 เสียง จึงไม่ยากเกินความคาดหมายไป เช่นเดียวกัน การคงสิทธิ์ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯได้เพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะส่งผลต่อการพลิกบทบาท การเลือกนายกฯ จาก ส.ส.มาเป็น ส.ว. และไม่น่าจะต่างกัน เมื่อต้องลงมติเลือกนายกฯคนนอก ก็ยังคงใช้เสียงเดิมที่เห็นพ้องกันมาก่อน 375 เสียง
และไม่ว่านายกฯจะลาออก หรือเกิดเหตุยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ กระบวนการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ยังคงมีผลบังคับใช้ได้ตลอด 5 ปี ด้วยยึดโยงกับเหตุผล และเจตนาของคำถามพ่วง ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ นี่จึงอาจเป็นข้อสังเกตว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดทางให้มีนายกฯคนนอก และเป็นที่มาของคำกล่าวขานถึง นายกฯคนนอก 2 สมัย 8 ปี