วันนี้ (21 ส.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง กรธ.และ สนช.ไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตีความขอบเขตอำนาจ ส.ว.ในการร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ กรธ.จะยกร่างแก้ไข เพื่อเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ 1 ในกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช. ซึ่งเข้าหารือร่วมกับ กรธ.ด้วย ยอมรับว่า สนช.ยังมีความเห็นหลากหลาย โดยสมาชิกบางคนต้องการให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่การเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก
แต่ข้อสรุปของ สนช.ล่าสุดขณะนี้ คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ในครั้งแรกให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อตามมาตรา 88 และโหวตเลือกจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 159 แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อได้ทันทีในขยักที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายืดเยื้อ และยอมรับว่าเป็นการตีความแบบกว้างตามเจตนารมณ์
นพ.เจตน์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.จะหารือร่วมกันอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าไม่ว่า กรธ.จะตีความและปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นคำถามพ่วงออกมาอย่างไร สนช.ก็จะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ กรธ.จะปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นคำถามพ่วงให้แล้วเสร็จ โดยกลางสัปดาห์นี้ จะประชุมเพื่อกำหนดกรอบก่อนปรับแก้ พร้อมยืนยันว่าเป็นสิทธิ์ของ กรธ.ที่จะดำเนินการ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก มั่นใจจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง