ผลคะแนนเสียงประชามติที่ทิ้งห่างอย่างชัดเจนระหว่างผู้เห็นชอบกับผู้ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่มีมากถึงร้อยละ 61.35 ต่อ 38.65 ทำให้ผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศยอมรับในผลประชามติ แต่การวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ผลคะแนนออกมาดังที่ปรากฏ ก็ทำให้มีทั้งองค์กรภาคประชาชนออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลอ้างผลประชามติ ดำเนินการใดๆ โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน และในเวลาเดียวกันการออกมามีส่วนร่วมกับการลงประชามติทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยที่นักวิชาการเห็นว่าควรรักษาไว้เพื่อเดินหน้าประเทศ หากแต่ต้องเปิดกว้างและใช้บทเรียนของการทำประชามติที่เพิ่งผ่านมาเป็นบทเรียน
ในรายการเวทีสาธารณะ หัวข้อ “เดินหน้า หลังประชามติ” ผศ.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะรักษาบรรยากาศการมีส่วนร่วมเหมือนกับช่วงเวลาการทำประชามติให้คงอยู่นั้น เป็นโจทย์ที่นักปฏิรูปจะต้องคิดต่อไปว่า จะทำให้ผู้เห็นต่างเหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปได้อย่างไร
“สิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐธรรมนูญ เราจะไปด้วยกันอย่างไร อันนี้ก็จะต้องเป็นภารกิจสำหรับนักปฏิรูปทั้งหลายที่จะต้องตอบกับสังคมว่า แม้เสียงข้างมากจะชนะในการทำประชามติ เราก็จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Inclusive democracyหมายความว่า ดึงเอาคนที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับเรานั้น เข้าไปอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยกันอย่างไร”
นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอาจจะไม่เกิดขึ้นหากผู้เห็นต่างบางส่วนยังมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบบที่มีอยู่ ทั้งการปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างในช่วงก่อนวันลงประชามติและการดำเนินดคีกับผู้เห็นต่างหลายคน
“ถามว่าความรู้สึกที่จะอินกับการปฏิรูปนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะผลพวงจากการเผชิญหน้าตั้งแต่ก่อนการประชามติ ก็ยังมีอยู่ คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็มีมากมาย ผู้คนเหล่านี้มองว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม ดังนั้น ถ้าคนในสังคมส่วนหนึ่งมีความรู้สึกแบบนี้ โอกาสที่จะไปมีส่วนร่วมกับการมองไปข้างหน้ากับการปฏิรูปประเทศร่วมกัน ผมคิดว่าความรู้สึกมีส่วนร่วมแต่ต้นก็อาจจะไม่เกิดขึ้นแล้ว”
ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ยังกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาว่า รัฐต้องเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พูดคุยของผู้ที่เห็นเหมือนกันหรือระหว่างผู้ที่เห็นต่างกัน ซึ่งหากรัฐหยุดการใช้อำนาจในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น พื้นที่เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติโดยที่รัฐไม่ต้องไปจัดตั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า การปฏิรูปกับการปรองดอง เป็นเสมือนเหรียญสองด้านที่จะต้องมีอยู่คู่กัน บทเรียนที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลประชามติที่สะท้อนเสียงของคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน เป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เสียงของผู้เห็นต่างเหล่านี้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
“ผมคิดว่าความสำคัญอยู่ที่ว่าเราให้คุณค่าของทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และนี่คือหลักการสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตย และเป็นหลักการสำคัญของการปฏิรูปประเทศ”
นายอลงกรณ์กล่าวด้วยว่า การที่ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังออกมาลงประชามติด้วยนั้น ทำให้บรรยากาศของประเทศดีขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีจุดร่วมกันว่า นอกจากยอมรับความชอบธรรมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วนั้น ยังทำให้เส้นทางไปสู่การเลือกตั้งก็มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ในช่วงท้ายของเวทีสาธารณะ มีการเสนอรูปธรรมของการสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมในการเดินหน้าประเทศไทยหลังการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ผศ.นฤมล ทับจุมพลเสนอว่า ควรจะมีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ รวมไปถึงผู้ที่กระทำผิดต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกมาก่อนหน้านี้
“เสนอให้รัฐทอดสะพาน ทิ้งผ้าเช็ดหน้าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวในคนที่มีคดีตามพ.ร.บ.ประชามติ ถ้า กกต.บอกไม่ผิด แม้จะผิดตามคำสั่ง คสช. ก็ปล่อยตัวชั่วคราว ไปสู้กันในศาล อันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการทอดสะพาน” ผศ.นฤมล กล่าว พร้อมกับเสนอแนวทางเดินหน้าในกระบวนการต่างๆ หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับให่ม่แล้ว่า ควรเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงข้อเสนอต่อกฏหมายประกอบรับธรรมนูญ 10 ฉบับที่จะต้องยกร่าง โดยไม่ต้องกังวลต่อความเห็นต่างเพราะสังคมเรียนรู้การจัดการกับความขัดแย้งได้เอง และในขณะเดียวกันการเปิดพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้
นายสัก กอแสงเรือง กล่าวเสริมว่า ข้อเสนอการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวโดยมีหลักประกัน หรือไม่มีหลักประกันก็ได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยความเป็นธรรม โดยหาสาเหตุว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจให้กระทำผิดกฏหมาย
“ถ้าสมมติว่าเกิดจากความเห็นไม่ตรงกันทางการเมืองก็เป็นอย่างหนึ่ง เจตนาร้ายทางการเมืองก็อีกแบบหนึ่ง หรือว่าถ้ามีอย่างอื่นแอบแฝงต้องการสร้างผลร้ายกับส่วนรวม ก็ต้องดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว”