สู้เศรษฐกิจ ดึงเด็กกลับโรงเรียน
โรงเรียนบ้านเปล ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา มีนักเรียน 76 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าและด้อยโอกาส พ่อแม่ของเด็กบางคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เด็กบางคนพ่อแม่ไปทำงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย เด็กๆ จึงต้องอาศัยอยู่กับตายายที่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา
นงนุช กั้งยอด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเปล เปิดเผยว่าโรงเรียนจะส่งครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน สร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากมาโรงเรียน พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจและเห็นความมุ่งมั่นของทางโรงเรียนที่จะให้เด็กๆ ได้รับการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนยังจัดหาทุนการศึกษาให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด คิดตามค่าอุดหนุนรายหัวเด็กทั้งโรงเรียน เพียงปีละ 50,000 บาท โรงเรียนจึงต้องมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ทั้งศิษย์เก่าและทางจังหวัดนราธิวาสช่วยสนับสนุนอาหารเช้าและนมให้เด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังมีการสร้างรายได้เสริม เช่น นำกล่องนมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ปลูกผัก ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ เมื่อผู้ปกครองเห็นว่าได้ผลแล้วนำไปทำตามก็ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมด้วย
อีกวิธีการหนึ่งในการช่วยให้เด็กต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเรียนต่อได้ก็คือ ให้เด็กช่วยทำงานที่โรงเรียน เช่น ทาสี ตกแต่งอาคารในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือช่วงปิดภาคเรียนโดยมีค่าตอบแทนให้เป็นรายชั่วโมง เช่น ทาสี ตกแต่งอาคาร ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กมีรายได้แล้วยังป้องกันไม่ให้ถูกดึงไปในทางที่ผิดอีกด้วย
ด้านนายประภาส ขุนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส ในฐานะประธานเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดนราธิวาส บอกว่า หากในอนาคตรัฐบาลไม่มีการอุดหนุนงบประมาณในโครงการจ้างงานเด็ก ทางโรงเรียนอาจจะต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาใช้ในโครงการทุนการศึกษา ช่วยเด็ก 3 จังหวัดใต้ให้เรียนต่อ
ขณะที่ นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีทุนการศึกษาให้ เช่น ทุนภูมิทายาท ซึ่งในปี 2559 มีมากกว่า 9,000 ทุน โดยคัดเลือกจากเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เด็กเรียนดี เด็กเรียนดีแต่ยากจน เด็กที่มีความสามารถพิเศษ การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็งขึ้น เช่น การแนะแนว รู้จักนักเรียนรายบุคคล การสนับสนุนอาหารเช้าในบางโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีฐานะยากจน เป็นต้น
ขณะที่บางโรงเรียนมีการรับบริจาคทุนการศึกษาเพื่อมอบให้เด็ก เช่น โรงเรียนนราธิวาสจัดโครงการสานฝันนักเรียน น.ธ. โดยรับบริจาคได้ 113 ทุนเป็นจำนวน 239,500 บาท เป็นต้น
ติวฟรี หนุนแข่งโค้งสุดท้ายเข้ามหาวิทยาลัย
ส่วนเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา จะมีปัญหาการสอบแข่งขันกับเด็กในภูมิภาคอื่นๆ เพราะการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างและไม่สมบูรณ์เหมือนในพื้นที่อื่น
น.ส.ศอ ฟาว์ หะยีสาอิ เภสัชกร โรงพยาบาลเจาะไอร้องเล่าว่าเธอเคยเข้าเรียนทั้งในโรงเรียนสายสามัญและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจะรู้สึกเหนื่อยมากเนื่องจากต้องเรียนเป็น 2 เท่า เพื่อให้เรียนทันเพื่อนในโรงเรียนสายสามัญและต้องเรียนศาสนาด้วย แต่ละสัปดาห์จะได้หยุดเพียงวันศุกร์วันเดียว ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายก็เปลี่ยนมาเรียนสายสามัญอย่างเดียว และเรียนกวดวิชาตามค่านิยม ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เน้นการเจาะประเด็นข้อสอบ เพื่อให้สอบได้คะแนนสูง
อย่างไรก็ตามนางอมราภรณ์ ขุนแผ้ว ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนนราธิวาส และเลขานุการศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดนราธิวาสแสดงความกังวลว่าการที่เด็กวัยรุ่นต้องไปเรียนกวดวิชาในเมืองใหญ่ๆ อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรืออาจไปไกลถึงกรุงเทพฯ อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยและการใช้ชีวิต ทางโรงเรียนจึงจ้างติวเตอร์มาสอนให้ในราคาพิเศษ โดยโรงเรียนจะออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 100,000 บาท และผู้ปกครองออกอีกครึ่งหนึ่ง หรือวันละ 100 บาท เป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเครื่องบินของวิทยากร รวมทั้งค่าอาหารของเด็ก ขณะนี้ได้มีการกระจายข่าวไปยังโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
“ผู้ปกครองที่ยากจน เครือข่ายผู้ปกครองก็เห็นใจและช่วยเหลือ อยากให้เด็กๆ ได้มาติวด้วยกัน คนมีเงินเขาก็ช่วยเหลือบริจาคค่าใช้จ่ายให้ก็มี” นางอมราภรณ์ กล่าว
ขณะที่ติวเตอร์ชื่อดังหลายคนที่อยากช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ ก็กำลังทำโครงการติวฟรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการติวฟรีจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดติวเตรียมพร้อมสู่มหาวิทยาลัยของทางจังหวัด โครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ โครงการติวข้น ค้นฝัน รวมทั้งโครงการติวจากมหาวิทยาลัยและโครงการที่ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อเติมเต็มโอกาสให้กับเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน