ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นศ.แพทย์-พยาบาล" ชายแดนใต้ ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต้องเข้าใจทั้งชีวิต-วัฒนธรรม

ภูมิภาค
30 ก.ค. 59
17:17
6,732
Logo Thai PBS
"นศ.แพทย์-พยาบาล" ชายแดนใต้ ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต้องเข้าใจทั้งชีวิต-วัฒนธรรม
การเป็นนักศึกษาแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้คนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อทุกอย่างยังพบว่าไม่ง่าย แล้วสำหรับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ พวกเขาและเธอต่อสู้กับอุปสรรคทางการเรียนกันอย่างไร และมี "ตัวช่วย" อะไรบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) จ.นราธิวาส ที่เน้นการให้โควต้าเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเรียนแพทย์และพยาบาล เป็นเครื่องสะท้อนอย่างดีถึงความพยายามในการสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษาต่อด้านการแพทย์ ขณะที่่นักศึกษาที่นี่ต้องต้องสู้ไม่แพ้กับนักศึกษาแพทย์ที่อื่นๆ เพื่อทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริง

เปิดโควต้าสร้างหมอรุ่นใหม่ชายแดนใต้

นายทักษิณ อรรคฮาด อดีตนักเรียนโรงเรียนนราธิวาส ปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 มนร.จากการสอบในระบบโควต้าโครงการผลิตแพทย์เพิ่มในพื้นที่ชนบท เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การที่ มนร.เปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเป็นโอกาสที่สามารถเลือกสอบได้ ก่อนการสอบแข่งขันที่อื่นๆ เมื่อสอบได้โควต้าจึงตัดสินใจเรียนในพื้นที่แทนที่จะไปสอบแข่งขันที่อื่นอีก

“เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มักจะขาดโอกาส การสร้างโอกาสถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทั้งการสร้างแพทย์หรือบุลคลากรในด้านต่างๆ เพราะคนในพื้นที่จะเข้าใจปัญหาและช่วยกันดูแลบ้านเกิดได้” นายทักษิณ กล่าว

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีโครงการอบรมวัฒนธรรมและภาษามลายู ทำให้นักศึกษาแพทย์สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น รวมถึงการเรียนวิชาสันติศึกษา ที่เสริมให้มีความเข้าใจและสามารถร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมการเป็นแพทย์ชุมชนที่ทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนได้เป็นอย่างดีด้วย

“ผมอยากกลับไปเป็นหมอที่บ้าน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เพราะอยากแก้ไขปัญหาโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่มายาวนาน” นายทักษิณกล่าว

 

ต้องคำนึงทั้งชีวิต-วัฒนธรรม-ศาสนา

นายกษิตินารถ ทองวิเศษ อดีตนักเรียนโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จ.ยะลา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 มนร.จากการสอบในระบบโควต้าโครงการเดียวกัน เปิดเผยว่า การมีที่เรียนในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ทำให้มีความสะดวก ไม่ต้องไปเรียนไกลบ้าน ค่าใช้จ่ายก็ไม่สูง และที่สำคัญคือ ในพื้นที่ยังขาดแคลนแพทย์อีกมาก อย่างเช่นที่ จ.ยะลา ขาดแคลนแพทย์ศัลยกรรมประสาท ที่สำคัญก็คือ แพทย์ต่างถิ่นมักจะมีความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของคนไทยมุสลิมค่อนข้างน้อย

“วัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ เช่น การรักษาที่หมอต้องอยู่กับคนไข้ผู้หญิงถือว่าไม่เหมาะสมสำหรับในพื้นที่นี้ หรือการรักษาในช่วงเดือนรอมฎอน ต้องมีการปรับการสั่งยาให้เหมาะสม เพราะถ้าไม่เข้าใจ การรักษาจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และจะเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยไปจนถึงญาติพี่น้องด้วย” นายกษิตินารถกล่าว

นายกษิตินารถยังบอกอีกว่า เมื่อเรียนจบก็จะสามารถทำงานช่วยเหลือคนในบ้านเกิดของตัวเองได้ และยอมรับว่า เมื่อจบการศึกษาแล้ว อาจจะต้องทำงานหนัก แต่เพื่อนนักศึกษาแพทย์ก็ได้พูดคุยและให้กำลังใจกันและพร้อมที่จะทำงานให้ดีที่สุด

 

มนร.เปิดพื้นที่ให้เด็ก 3 จังหวัดก่อน

มนร.พัฒนาขึ้นมาจากระดับวิทยาลัยมาหลายปีแล้ว เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากจะเอื้อให้เด็กพัฒนาตนเองได้แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรในสาขาที่มีความจำเป็นในพื้นที่โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล

รศ.รสสุคนธ์ แก้วมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เล่าให้ฟังว่า การสร้างบุคลากรจะเริ่มจากคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ดังนั้นในการรับนักศึกษาจึงมีการจัดสรรโควต้าให้กับคนในพื้นที่ก่อน โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรสายสาธารณสุข ทั้งแพทย์และพยาบาล เพื่อให้บุตรหลานของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ารับการศึกษา และเมื่อจบการศึกษา สามารถประกอบอาชีพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่

“เรายังขาดแคลนแพทย์เพราะแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ใช้ทุน เมื่อใช้ทุนหมดก็ย้ายกลับ หรือบางส่วนใช้ทุนไม่หมดก็จ่ายเงินเพื่อใช้ทุนแทน และเมื่อมีสถานการณ์ความไม่สงบ พ่อแม่ก็ยิ่งเป็นห่วง แต่ถ้าเป็นแพทย์ที่พ่อแม่อยู่ในพื้นที่ก็จะไม่มีปัญหาตรงนี้” รศ.รสสุคนธ์ ระบุ

การรับนักศึกษาเข้าศึกษาในคณะแพทย์ เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตแพทย์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ ดังนั้นเด็กในโควต้าของมหาวิทยาลัยจึงเป็นผู้ที่ผู้ปกครองมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยแต่ละปีจะรับ  24 คน แบ่งเป็น จ.นราธิวาส 12 คน จ.ปัตตานี 6 คน และ จ.ยะลา 6 คน โดยนักเรียนสามารถศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาในสถาบันใดก็ได้ เพียงแต่ผู้ปกครองต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นนักเรียนจะต้องมาสอบให้ผ่านเกณฑ์ในคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะแพทย์

 

ขณะนี้มีนักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วจำนวน 4 รุ่น รวม 88 คน เมื่อนักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษาจบชั้นปีที่ 6 จะต้องทำงานใช้ทุน 3 ปีในพื้นที่ ก่อนไปศึกษาต่อเฉพาะทาง ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กันทั้งหมด โดยประจำในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลเบตง

“เด็กบางคนพ่อแม่ก็ลำบาก แต่ก็สามารถส่งลูกหลานให้สามารถศึกษาได้ และจบมาเป็นแพทย์ก็เป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่และชุมชนอย่างมาก”

ขณะที่คณะพยาบาลศาสตร์มีโควต้าสำหรับเด็กในพื้นที่และยังมีโควต้าพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ปีละประมาณ 2-3 คน โดยคณะพยาบาลศาสตร์จะส่งพยาบาลไปฝึกในโรงพยาบาลชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ต้องคัดเลือกในพื้นที่เพื่อความปลอดภัย หรือส่งไปฝึกที่โรงพยาบาลใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพยาบาลพัทลุง หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ในจังหวัดภาคใต้ตอนบน

รศ.รสสุคนธ์ยอมรับว่า สถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาพอสมควร

รศ.รสสุคนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า มนร.ยังได้ส่งนักศึกษาระดับต่างๆ ไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยบาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์ และมหาวิทยาลัยอูตารา มาเลเซีย (UMM) มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (USM) และมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย (UIA) โดยไปแลกเปลี่ยนเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของต่างชาติ นอกเหนือจากการเรียนรู้ด้านภาษา

 

เล็งเพิ่มนักศึกษาแต่ติดขัดทั้งครู-อัตรา

เมื่อมีเส้นทางที่ชัดเจน เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความต้องการเรียนในระดับอุมศึกษาในพื้นที่มากขึ้น แต่ มนร.ไม่สามารถรับนักศึกษาเพิ่มได้ เนื่องจากบางสาขาวิชา เช่น แพทย์และพยาบาล เป็นการศึกษาที่มีสภาวิชาชีพควบคุม จึงต้องใช้บุคลากรเพื่อการสอนเพิ่มขึ้น สวนทางกับกรอบอัตรากำลังที่ยังขาดแคลนอยู่

“ถ้าเราจะเปิดสอนระดับปริญญาโท ก็ต้องมีอาจารย์ระดับปริญญาเอก ที่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับนักศึกษา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นอกจากปัญหาอัตรากำลังจำกัดแล้ว อาจารย์จากนอกพื้นที่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยด้วย” รศ.รสสุคนธ์ กล่าว

ในระยะยาวการสนับสนุนด้านการเรียนการสอนน่าจะดีขึ้น เพราะในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อกว่า 100 คน ซึ่งขณะนี้เริ่มทยอยกลับมาบางส่วนซึ่งจะทำให้สามารถรับนักศึกษาได้มากขึ้น ในอนาคต มนร.จึงมีแผนจะเปิดรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มเป็น 36 คน แต่ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินจากแพทยสภาก่อน ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับได้ในปีการศึกษา 2560

 

มนร.หนุนติวมัธยมศึกษามุ่งสู่อุดมศึกษา

นอกเหนือจากการเปิดสอนในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยจัดสอนเสริมให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ เช่น จัดติวโอลิมปิกวิชาการจัดค่ายสอนวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ วิทยาศาสตร์ และค่ายภาษาอังกฤษรวมถึงกิจกรรมสอนเสริมด้านวิทยาศาสตร์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีผู้เข้าร่วมปีละกว่า 700 คน รวมถึงสอนเสริมในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาจีน มีผู้เข้าร่วม 400 กว่าคน

“การสร้างการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากเยาวชนเข้าถึงการศึกษาและมีความรู้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ถูกชักจูงไปกระทำในสิ่งที่ผิด และการมีบุคลากรที่เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ ก็จะช่วยให้พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นได้” รศ.รสสุคนธ์กล่าว

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง