ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เมเจอร์ฯ ปิ่นเกล้า” ตัวอย่างความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์ที่แขวนไว้บนเส้นด้าย

อาชญากรรม
29 ก.ค. 59
21:47
1,990
Logo Thai PBS
“เมเจอร์ฯ ปิ่นเกล้า” ตัวอย่างความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์ที่แขวนไว้บนเส้นด้าย
นักวิชาการด้านอัคคีภัยติง พ.ร.บ.ควบคุมโรงภาพยนตร์หลายฉบับ อาจไม่ทันการณ์ต่อโครงสร้างสมัยใหม่ รวมถึงการช่วยเหลือยามเกิดเหตุไฟไหม้ ด้านคอหนังวิตกเรื่องทางหนีไฟและศักยภาพผู้ให้บริการในการช่วยเหลือ อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาชีวิตให้ปลอดภัย

วันนี้ (29 ก.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่า สาเหตุอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ขณะที่การดัดแปลงตกแต่งอาคารช่วงก่อนหน้า เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าทำตามระเบียบถูกต้อง แต่ในเชิงลึกหากเทียบกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมอาคาร ปี 2544 ที่ระบุไว้ชัดเจนถึงวัสดุที่ใช้ในอาคาร ต้องมีคุณสมบัติติดไฟต่ำหรือไม่ลามไฟง่าย ซึ่งกลายเป็นข้อสังเกตว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า ได้ทำตามข้อกำหนดนี้หรือไม่

ช่วงขณะเกิดเหตุคนที่เดินทางมาชมภาพยนตร์อาจยังไม่มาก แต่หลายคนเริ่มกังวลถึงกรณีที่ผู้ชมเต็มโรงทุกที่นั่ง ยิ่งในช่วงเวลาพลุกพล่านและมีข้อจำกัดด้านการจราจร สถานที่นี้อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงอันตรายเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นจริง ทั้งทางหนีไฟและการรับมือกับเหตุการณ์โกลาหลของผู้ให้บริการ ที่อาจมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการช่วยชีวิต

เมื่ออยู่ในโรงภาพยนตร์ ส่วนมากแล้วผู้ชมจะตั้งใจอยู่กับเนื้อหาบนจอ จนลืมสังเกตทางหนีไฟ จากแผนผังพบว่าถ้าเป็นโรงภาพยนตร์ปกติขนาดใหญ่ 200 ที่นั่งขึ้นไป มีทางออกอยู่ 6 ทางหลัก คือ ด้านหลัง กลางโรง และด้านหน้า ถ้าในสถานการณ์ปกติ โรงภาพยนตร์อาจเปิดให้เข้าออกทางเดียว แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถออกทุกประตูตามสัญลักษณ์ทางหนีไฟ

แต่เมื่อจำลองสถานการณ์เข้าไป เป็นการดูภาพยนตร์ดังช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผู้ชมเต็มทุกโรง โดยเปรียบเทียบกับแผนผังของโรงภาพยนตร์ชื่อดังใน กทม. ซึ่งมีทั้งหมด 12 โรงในพื้นที่ พบว่าในรอบนั้น ๆ อาจมีผู้ชมมากถึง 2,000 คน ถ้าต้องออกมาจากโรงภาพยนตร์พร้อมกัน เพื่อเดินออกตามทางหนีไฟ อาจเกิดเป็นเหตุไม่คาดฝันได้

อย่างไรก็ดี โรงภาพยนตร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพียงฉบับเดียว เพราะยังมีกฎหมายอีกฉบับ ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงภาพยนตร์หรือโรงมหรสพ แต่กฎหมายนี้มีอายุหลายปี ซึ่งนักวิชาการอย่าง พิชญะ จันทรานุวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการป้องกันอัคคีภัย วสท. ตั้งข้อสังเกตว่า ยังครอบคลุมโรงภาพยนตร์ในปัจจุบันได้ดีพอหรือไม่

ส่วนการหาสาเหตุที่เป็นต้นตอของเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ คลิปจากสถานีดับเพลิงสามเสน ที่เผยแพร่อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจเป็นหนึ่งกุญแจช่วยไขคำตอบจากภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจะนำไปใช้ประกอบการทำคดี ไม่ว่าจะเป็นสีของไฟที่บอกประเภทของเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ ขณะที่ ทิศทางการลุกลามก็สามารถบอกได้ว่าต้นเพลิงเกิดจากโซนไหน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง