โรงพิมพ์จันวณิชย์เป็นผู้ที่ชนะการประกวดราคาพิมพ์บัตรออกเสียงลงประชามติ โดยดำเนินการจัดพิมพ์ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.- 28 ก.ค.2559 รวมระยะเวลาการพิมพ์ 34 วัน จำนวนบัตรออกเสียงประชามติที่พิมพ์ทั้งหมด 54.6 ล้านฉบับ หรือมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 50.6 ล้านคนร้อยละ 8
นายสมชัยระบุว่า กกต.เลือกว่าจ้างโรงพิมพ์แห่งนี้เพราะเป็นโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพในการผลิต และมั่นใจได้ว่าจะไม่มีกรณีการปลอมแปลงบัตรเกิดขึ้นเนื่องจากใช้ระบบการออกแบบบัตรเพื่อรักษาการปลอมแปลง 5 ชั้น โดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชนได้ 3 ชั้นคือ
1.สีบัตร ซึ่งจะเปิดเผย 2 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ
2.ระบบไมโครเลตเตอร์หรือตัวอักษรขนาดเล็กที่ต้องใช้กล้องขยายส่องเท่านั้น โดยไม่เปิดเผยว่าอยู่จุดใด
3.หมึกพิมพ์พิเศษที่ต้องใช้เครื่องแสงสีม่วงสแกนถึงจะพบลายน้ำบนบัตร
ส่วนการป้องกันการปลอมแปลงในชั้นที่ 4 และ 5 นั้น กกต.ไม่ได้เปิดเผย เพียงแต่ระบุว่าเป็นการใช้ "เทคโนโลยีระดับสูงในการตรวจว่าเป็นบัตรจริง" และเป็นข้อตกลงพิเศษระหว่างกกต.และโรงพิมพ์ นายสมชัยยืนยันว่ากระบวนการนี้จะเกิดการปลอมแปลงบัตรได้ยาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ กกต.ให้ความสำคัญอย่างสูง
นอกจากนี้ กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการจัดพิมพ์บัตรออกเสียง พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมการจัดพิมพ์บัตรตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการตรวจรับและส่งมอบแบ่งเป็น 3 งวด คือ
งวดที่ 1 วันที่ 8 ก.ค.2559 ส่งมอบบัตรออกเสียงประชามติ 10 ล้านฉบับ พร้อมบัตรตัวอย่าง 5 แสนฉบับ ซึ่งได้จัดส่งให้จังหวัดในภาคใต้
งวดที่ 2 วันที่ 18 ก.ค.2559 ส่งมอบบัตรจำนวน 25 ล้านฉบับ กกต.จัดส่งให้จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
งวดที่ 3 วันที่ 25 ก.ค.2559 ส่งมอบบัตรจำนวน 16.6 ล้านฉบับ กกต.เตรียมจัดส่งให้จังหวัดภาคเหนือ
ทั้งนี้ ในการขนส่งบัตรออกเสียงเลือกตั้งไปยังจังหวัดต่างๆ จะมีรถตำรวจนำขบวนและปิดท้ายเพื่อป้องกันการถูกสับเปลี่ยนหรือเกิดปัญหาอื่นๆ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้ประสานมายัง กกต.ให้จัดเวทีดีเบต เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนต่อเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามตินั้น นายสมชัยเปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.เห็นชอบโดยส่งหนังสือเวียนไปยังสำนักงาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ประสานหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดเวที 1 ครั้ง ให้เสร็จก่อนวันที่ 3 ส.ค.2559 โดยนำงบประมาณที่เหลือจากการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงกว่า 11 ล้านบาท หรือจังหวัดละ 1.5 แสนบาทให้แต่ละจังหวัดดำเนินการกำหนดวันและรูปแบบ โดยหวังให้มีประชาชนเข้าร่วมเวทีละ 400 คน พร้อมผู้ร่วมเวทีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายเห็นต่าง 4 คน โดยฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ "ครู ก" และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้เห็นต่าง 2 คน โดยเปิดให้ประชาชนที่ร่วมได้ซักถามในประเด็นที่สงสัย
นายสมชัยกล่าวถึงการที่บางฝ่ายแสดงความกังวลว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.2559 จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายสมชัยยืนยันว่าจะไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น และจะมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนการทำประชามติ
ส่วนกรณีมีเด็กและผู้ป่วยไปฉีกบัตรออกเสียงลงประชามตินั้น นายสมชัยระบุว่ายังไม่ได้รับรายงาน