วันนี้ (24 ก.ค.2559) รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวปาฐกถา หัวข้อ "ประชามติ 7 สิงหากับอนาคตสังคมไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน "ใส่ใจประชามติ รัฐธรรมนูญกับอนาคตประชาชน" ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปาฐกถาในครั้งนี้มีความยาวประมาณ 50 นาที ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากที่เข้ามาร่วมรับฟังเต็มหอประชุมศรีบูรพา โดย รศ.วรเจตน์วิเคราะห์ถึงปัญหาหลักๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก, ปัญหาของระบบเลือกตั้ง, การคงอยู่ของประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44, การที่ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่มาขององค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และการวางกฎเกณฑ์ที่ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะทำงานได้ยาก เป็นต้น
รศ.วรเจตน์วิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดินว่าหมวด 16 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในลักษณะที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานได้ลำบากมาก
"กฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะร้อยรัดจนทำให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่วางไว้ได้ยาก เพราะคณะรัฐมนตรีจะมีสถานะเป็นเหมือนองค์กรฝ่ายประจำที่ทำงานประจำไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่การคิดนโยบายสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจะทำได้ยาก" นายวรเจตน์กล่าว
ในส่วนของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รศ.วรเจตน์เห็นว่า ถ้าอ่านแบบผิวเผินอาจจะ "เคลิ้ม" ได้ อีกทั้งยังมีการเขียนโฆษณาด้วยการบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ "ดูแลตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า" แต่แท้จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น
"บทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน อ่านดูแล้วบางคนอาจจะเคลิ้มเพราะมีการประกันสิทธิเอาไว้มากมายและถูกใช้เป็นจุดขาย จุดโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วการบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้มากหรือน้อย แต่อยู่ที่กลไกการบังคับตามสิทธินั้นมีประสิทธิภาพและเคารพสิทธิของประชาชนจริงๆ หรือไม่ ที่สำคัญก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะมีการรับรองสิทธิเอาไว้ แต่ก็เปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิ ซึ่งทำให้การให้สิทธินั้นมีความหมายน้อยลง" รศ.วรเจตน์กล่าว
"หลังจากประกาศใช้ รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจหัวหน้าคสช.มีอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อไปอีกจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สมมติรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นประชามติ แล้วเราอยู่ระหว่างรอให้มีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งคำนวณแล้วอย่างต่ำน่าจะใช้เวลา 15 เดือน หัวหน้าคสช.ยังคงใช้อำนาจตามาตรา 44 ได้อยู่ เพราะฉะนั้น บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นหมัน"
"การรับร่างรัฐธรรมนูญ ในแง่หนึ่งจึงหมายถึงการยอมรับให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ต่อไปได้อีก จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่"
นอกจานี้ รศ.วรเจตน์ยังได้วิจารณ์ถึงคำถามพ่วงที่ว่า "เห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" โดยแสดงความเห็นว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่มีนัยของการเชิญชวน ไม่ชัดเจนและต้องพิจารณาหลายชั้น
เขาอธิบายว่าแท้จริงแล้วคำถามนี้คือ เห็นด้วยหรือไม่ที่ในช่วง 5 ปีแรกจะให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว.นี้ก็มาจากการสรรหาโดย คสช.นั่นเอง
รศ.วรเจตน์วิเคราะห์ว่า ผลการลงประชามติครั้งนี้จะมีผลต่อความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจของ คสช.
"ผมเห็นว่าการโหวตรับหรือไม่รับเป็นเรื่องของความชอบธรรม...ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็อาจตีความได้ว่าความชอบธรรมของ คสช.ก็อาจจะมีมากขึ้น ถ้ากระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ต่อให้ คสช.บอกว่าไม่ได้เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเอง แต่ทุกคนก็รู้ว่าคสช.เป็นคนตั้งคณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพราะฉะนั้น ความชอบธรรมของ คสช.ก็ไม่น่าจะเหมือนเดิม"
ภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กรประกาศ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"
กิจกรรม "ใส่ใจประชามติ รัฐธรรมนูญกับอนาคตประชาชน" ซึ่งร่วมจัดโดยองค์ วันนี้ (24 ก.ค.) ร่วมจัดโดยกลุ่มนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมและนักศึกษา 43 องค์กร นอกจากปาฐกถาโดย รศ.วรเจตน์แล้ว ยังมีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กร เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย เครือข่ายพลเมืองเน็ต เครือข่ายการศึกษาทางเลือก รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดได้เห็นว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประกาศว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.นี้
กรรณิการ์ กิตติเวชกุล จากกลุ่ม FTA Watch กล่าวว่าทางกลุ่มฯ มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้การจัดทำหนังสือสัญาระหว่างประเทศมีความโปร่งใสและได้รับการตรวจสอบถ่วงดุล
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่าาสิ่งที่น่ากังวลก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะมีผลทำให้ ประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป เนื่องจากมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า บรรดาประกาศ คำสั่งและการกระทำของ คสช.หรือ หัวหน้า คสช. ตลอดจนประกาศและคำสั่งจะมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ
กลุ่มพลเมืองเน็ตกล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการออกประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.หลายฉบับที่ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตและสอดส่องพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน ซึ่งมาตรา 279 จะทำให้คำสั่งและประกาศเหล่านี้มีผลต่อไป
"การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนไว้ด้วย" นายอาทิตย์กล่าว
กรรณิการ์ กิตติเวชกุล FTA Watch อ่านแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. ดเนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้การจัดทำหนังสือสัญาระหว่างประเทศมีความโปร่งใสและได้รับการตรวจสอบถ่วงดุล
กนกพร สบายใจ เครือข่ายการศึกษทางเลือก กล่าวว่า การศึกษาทางเลือกได้รับการคุ้มครองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตัดเรื่องการศึกษาทางเลือกออกไป นั่นหมายถึงว่าสิทธิของผู้ที่สนับสนุนการศึกษาทางเลือกก็หายไปด้วย
ขณะที่ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2 องค์กร คือ นายตูแวนียา ตูแวแมแง เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และนายขดดะรี บินเซ็น ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแดนใต้ ซึ่งทั้งสององค์กรเห็นตรงกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปกป้องสิทธิของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่านั้น แต่ละเลยผู้ที่นับถือศาสนาอื่นและศาสนาพุทธนิกายอื่น ซึ่งในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้นับถือศาสนาอิสลาม
นายขดดะรี บินเซ็น ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแดนใต้ หยิบยก มาตรา 31 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายตอ่ความปลอดภัยของรัฐและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งนายขดดะรีมองว่าอาจทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อรัฐได้โดยง่าย