ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สปก.เริ่มแล้วลงพื้นที่ “คลองไทร” ปักป้ายพรุ่งนี้

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ค. 59
14:04
498
Logo Thai PBS
สปก.เริ่มแล้วลงพื้นที่ “คลองไทร” ปักป้ายพรุ่งนี้

วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 22 ก.ค. สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเข้าไปปักป้ายเพื่อแจ้งประกาศ ส.ป.ก. ที่ 12/2559 เรื่อง กำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งระบุพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 8 แปลง ในพื้นที่ ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ และต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

 

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านชุมชนคลองไทร จ.สุราษฎธานี ได้ออกแถลงการณ์ระบุ 7 เหตุผล ที่รัฐบาล คสช. และ ส.ป.ก. ไม่ควรบังคับขับไล่ ชุมชนคลองไทร ออกจากพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน คือ

1.การดำรงอยู่ใน พ.ท. อย่างต่อเนื่องของคลองไทร ตั้งแต่ปี 2551 อยู่ภายใต้การรับรู้และผ่อนผันมาทุกรัฐบาล ถ้าเราผิดกฎหมาย คณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกันประชุมกันมาทุกรัฐบาล และมีมติผ่อนผันก็ต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการทำความผิดในกรณีนี้ด้วย
2.การดำรงอยู่ของคลองไทรในพื้นที่ ส.ป.ก. เราทราบดีว่า การที่ชุมชนเข้าใช้ที่ดินยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาแก้ไขปัญหากับภาครัฐมาโดยตลอด จึงกล่าวได้ว่า ชุมชนกำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา จึงไม่ควรยับยั้งกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีความคืบหน้ามาพอสมควรแล้ว
3.คลองไทร ในฐานะสมาชิก สกต. และพีมูฟ ได้เคยยื่นหนังสือถึง ส.ป.ก. ทั้งขอใช้ประโยชน์ และขอเช่า แต่ไม่เคยมีการตอบรับ หรือปฏิเสธ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นั่นแสดงว่า เราไม่มีเจตนาอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. แบบคนผิดกฎหมาย นั่นแสดงว่า การที่เราต้องอยู่แบบผิดกฎหมาย เป็นเพราะความล่าช้าในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเกษตรยากจน ที่อยู่ในพื้นที่เพื่อรอคอยการปฏิรูปที่ดิน
4.การบริหารจัดการที่ดินของคลองไทร ไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่เป็นระบบเกษตรนิเวศ ดังนั้น ชุมชนคลองไทร จึงได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2553 ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการบริหารจัดการตามแนวทางโฉนดชุมชน ด้วยเหตุผลว่า ชุมชนนี้ มีความเข้มแข็งมากพอที่จะดำเนินงานฯ ตามแนวทางโฉนดชุมชนอย่าลืมว่า ก่อน ปจช.อนุมัติให้เป็นพื้นที่นำร่อง เขาส่งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบชุมชน ทั้งด้านการบริหาร และด้านสภาพพื้นที่ด้วย

 

 

5.การที่ ส.ป.ก.กล่าวว่าต้องเคลียร์พื้นที่ให้ว่างเปล่าเป็นศูนย์ เพื่อนำที่ดินมาจัดให้เกษตรกร หรือ คนจน ถ้ากรณีนายทุน ก็ฟังดูดีมีเหตุอันควร แต่กรณี คนจนหรือเกษตรกร ถ้ารัฐใช้วิธีบังคับขับไล่ คนจนออกมาก่อน แค่คิดก็ผิดแล้วครับ เพราะ “วิธีการของ ส.ป.ก. ได้ทำลายเป้าหมายลงราบคาบแล้ว” (หลายกรณี ข้าราชการไทย มีความสันทัดจัดเจน ในการทำลายเจตจำนงค์ของชาวบ้าน โดยวิธีเช่นนี้ เช่น ออก กฏหมายลูกที่มีผลทำลายเจตนารมณ์ของ รธน.ปี 2540)
6.การบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางที่คลองไทรใช้มาโดยตลอดมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือ การใช้สิทธิร่วมในนามสถาบันเกษตรกร หรือ สหกรณ์การเกษตรฯ ใน การถือครองและทำประโยชน์ในที่ดิน
7.การดำรงอยู่ และบริหารจัดการที่ดินของคลองไทร ไม่เคยร้องขอเงินงบประมาณจากรัฐบาล (นอกจากใช้ประโยชน์ในที่ดินรัฐ)ดังนั้นแทนที่จะบังคับขับไล่ ทำลายความเป็นชุมชน ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่สร้างสรรค์ ทั้งไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐบาลจึงควรหาทางออกในการแก้ปัญหาที่จะก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนโดย การนำพื้นที่นี้ มาเป็นต้นแบบ หรือโมเดล การบริหารจัดการที่ดินแบบสิทธิร่วมของสถาบันเกษตรกร จะเกิดประโยชน์ มากกว่าและเป็นการย่นระยะเวลาของรัฐบาล อย่างน้อย 9 ปี (2551-ปัจจุบัน) ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง