ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ” เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจ หรือแค่อยากได้แรงงานราคาถูก

เศรษฐกิจ
8 มิ.ย. 59
14:08
2,463
Logo Thai PBS
“เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ” เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจ หรือแค่อยากได้แรงงานราคาถูก
รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านตัวตลาดของเมืองเชียงของ จ.เชียงราย ออกไปยังสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 ที่ข้ามจากอ.เชียงของ ไปเมืองห้วยทราย ประเทศลาว ห่างจากเชียงของ 10 กม. เพื่อไปรอข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งสินค้าไปยังประเทศจีน

ข้อมูลของกรมศุลกากรระบุว่า ในปีงบประมาณ 2558 ด่านศุลกากรเชียงของ มีมูลค่าสินค้านำเข้ามากกว่า 3,800 ล้านบาท และมูลค่าสินค้าส่งออกมากกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กนพ. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ประกาศ กนพ. 2/2558 กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 จำนวน 5 พื้นที่ หนึ่งในนั้น มีพื้นที่อ.เชียงของรวมอยู่ด้วย ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล เนื้อที่ 489,500 ไร่ แต่ชาวเชียงของกลับรู้สึกพวกเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ในบ้านตัวเอง

เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมีหลักในการแบ่ง

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในความหมายสากลว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เขาใช้คำว่า Special Economic Zone โลกเขาใช้บนพื้นฐานของการใช้แนวคิดพื้นที่ยกเว้น หมายความว่า เป็นพื้นที่บางอย่าง ซึ่งกฎหมายต่างๆ ได้รับการยกเว้น หลักการบางอย่าง เช่น ระบบภาษีได้รับการยกเว้น ระบบสำมะโนครัว ได้รับการยกเว้น เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่นว่า ผลประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ผลประโยชน์ในการที่จะยกระดับฝีมือของผู้คนในประเทศ

จีนใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษบนพื้นฐานที่เราเรียกว่า เทคโนโลยีการจัดโซนนิ่ง เขาจะจัดประเทศเป็นโซน โซนไหนควรจะทำอะไร เซี่ยงไฮ้จะต้องเป็นธุรกิจการเงินการธนาคาร เซินเจิ้นจะต้องทำไอทีทำคอมพิวเตอร์ทำโทรศัพท์ เรียนรู้ยกระดับความรู้ของผู้คนขึ้นมา เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับคนอื่น อันนั้นคือความหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องยกระดับ ความรู้เป็น Knowlege Base ไม่ใช่มาทำเพื่อเน้นแรงงาน อุตสาหกรรมราคาถูก อันนั้นเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นวิธีคิดแบบล้าหลัง

ศ.ดร.ยศระบุว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องยกระดับคนในชาติให้เป็นมืออาชีพ ให้เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ต้องเน้นการศึกษามากขึ้น ไปดูเซินเจิ้น คนที่ไหลเข้ามา จะเป็นมือคอมพิวเตอร์ มือที่ทำซอฟแวร์ ทำฮาร์ดแวร์ระดับโลกเลย แล้วพวกนี้เริ่มจากการลอกเขา แล้วตอนนี้ทำแบรนด์ของตัวเอง สามารถจะก้าวขึ้นไปได้ อันนี้คือความหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ประเทศเราไม่เคยบอกว่ามันคืออะไร

“ของบ้านเราผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะเขาก็ไม่เคยบอกว่ามันคืออะไร แต่เท่าที่ดูไปตั้งอยู่แถบชายแดน จะเอาแรงงานข้ามมาทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายคาโสหุ้ยต่างๆ เช่น สวัสดิการต่างๆ อันนี้เป็นการกดขี่แรงงานปกติ ซึ่งคนท้องถิ่นก็ไม่ได้อะไร ถูกยึดทรัพย์ด้วย ถูกยึดที่ดินด้วย แล้วถ้าทำแบบนี้ไปมันจะเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าการเตะหมูเข้าปากหมา เพราะเขตเศรษฐกิจพวกนี้ พออยู่ไปเรื่อยๆ ทุนท้องถิ่นจะถูกรุกรานโดยทุนต่างชาติ และทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อ โดยเฉพาะจีน เราเห็นอยู่แล้วว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ เอื้อต่อการลงทุนที่ค่อนข้างจะสีเทาๆ อย่างที่ต้นผึ้ง ประเทศลาว นั่นก็เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไล่คนลื้อออกจากอ.ต้นผึ้ง ของลาว เพื่อให้เกิดการตั้งกาสิโนคิงส์โรมัน อย่างนี้ เป็นต้น อันนี้เป็นกระบวนการที่จีนจะเข้ามากว้านซื้อ แล้วก็เช่า 99 ปี เราก็เอาด้วย เราไม่เคยเรียนรู้เลยว่านโยบายอะไรที่ล้มเหลวของประเทศเพื่อนบ้าน เราเอาหมดเลย มันเป็นไปได้อย่างไร” ศ.ดร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเสียเปรียบอย่างไร ศ.ดร.ยศกล่าวว่า เชียงของคือธุรกิจโลจิสติกส์ใหญ่ เพราะตอนนี้สินค้าที่ไหลจากจีน ข้ามลาวมา มาได้ 2 ทางคือ มาทางเรือจากกวนเหลย แล้วมาขึ้นที่เชียงแสน เขาไม่สามารถต่อไปหลวงพระบางได้ เพราะเขาไม่สามารถระเบิดแก่งได้ กับอีกทางคือเอารถบรรทุก เข้ามาทางซุปเปอร์ไฮเวย์ผ่านยูนานเข้ามาในลาวตอนเหนือ แล้วมาที่เชียงของ ฉะนั้นเชียงของจะมีโกดังเก็บสินค้า เพื่อรอการกระจาย บางส่วนอาจจะไปอินเดีย บางส่วนอาจจะไปมาเลเซียก็ได้ ฉะนั้นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะเป็นหัวใจสำคัญ และถามว่าตอนนี้โลจิสติกส์อยู่ในมือใคร เราก็รู้อยู่ อาหารทุกวันนี้ที่เป็นอาหารจากจีน ก็อยู่ในมือโลจิสติกส์จีนหมดแล้ว โลจิสติกส์ไทยทำอะไรไม่ได้ เราปล่อยให้เกิดความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้เยอะมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การตรวจสารเคมีของสินค้าอาหารที่มาจากจีน เราก็เคยทำครับ แต่จีนโวย เราหยุด เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่เรากินไม่ใช่แค่แอปเปิ้ลจีน ไม่ใช่แค่ส้มจีน แต่เป็นแครอท บล็อกโครี่ หอมใหญ่ กระเทียม ผักอีกหลายชนิดที่มาจากจีนปนเปื้อนหมด เพราะเราไม่เคยเช็ค เราไม่กล้าเช็ค ถามว่าอธิปไตยของเราอยู่ตรงไหน


ขณะที่ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ในเชียงของ มาเป็นเวลานาน กล่าวว่า

“รัฐบาลบอกว่าชาวบ้านออกมาต่อต้าน จะไม่ให้ต่อต้านได้ไง ก็เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของชีวิต เรื่องของคน เรื่องของบ้านเมืองของเขา มันเรื่องใหญ่นะ แต่รัฐมองว่าเรื่องนี้มันง่าย รัฐยังติดวัฒนธรรมเดิมอยู่ว่า อยู่เฉยๆ แล้วรัฐจะทำให้ แต่มันหมดยุคสมัยเรื่องแบบนี้แล้ว แผนพัฒนาประเทศ 11-12 ฉบับ แล้ว เห็นชัดแล้วว่ามันผิดพลาดมาอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่แล้ว”

ปัญหาเชียงของคือ รัฐบาลเลือกพื้นที่จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จึงจะบอกชาวบ้าน ซึ่งความจริงต้องคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจน ทั้งประเทศไทยจะต้องพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจน ให้สถาบันการศึกษามาศึกษา พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าหากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะเป็นอย่างไร เอื้อประโยชน์ต่อใครกับใครบ้าง

เราต้องยอมรับว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องใหม่มาก บ้านเราไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย และเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบกับผู้คนมากมาย มีทั้งได้ทั้งเสียถือว่าใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ รัฐต้องให้ความสนใจ 2 อย่างที่สำคัญที่สุด หนึ่งเรื่ององค์ความรู้ ข้อมูลทุกอย่าง สองเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมประชาชน และภาคประชาชน

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางลบไม่เคยมีส่วนร่วม

ประเด็นปัญหาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในปัจจุบันที่เรามองว่ามันมีปัญหา มีการเรียกร้องจากพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่การเกษตร เรื่องทรัพยากรต่างๆ เราเห็นชัดเจนว่า ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะคนที่จะได้รับผลกระทบด้านลบไม่เคยได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มวางแผน ตั้งแต่จะทำเรื่องนี้กับประเทศชาตินี้ ซึ่งในความเป็นจริง จะต้องมีการพูดคุยให้ชาวบ้านได้รับรู้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แบบผิวเผิน แต่ถามว่าที่ผ่านมามีหรือไม่

และเรื่องที่จะเป็นความรู้หนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง หรือหนุนเสริมให้เห็นสิ่งที่จะเสียหายมีหรือไม่ ไม่มีเรื่องที่ชัดเจน และเมื่อมีการประกาศมาก็มีปัญหานี้ขึ้นมาจริงๆ ในเรื่องพื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้น ชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ทำกินของเขา ปกป้องวิถีวัฒนธรรม อาชีพ ของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คืออะไร นิวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คือเรื่องพื้นที่ การใช้พื้นที่ของทุกๆ แห่ง ไม่ใช่เฉพาะที่เชียงของ แม่สอด ตาก ก็เหมือนกัน เพราะพื้นที่เหล่านี้มีคนอยู่อาศัย หรือเป็นพื้นที่ทำมาหากิน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนแต่แรก และพูดคุยให้เข้าใจเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนว่าที่จะมาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น คุณจะมาใช้พื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์อยู่ และบอกว่าจะมาพัฒนาพื้นที่ พัฒนาอะไร อย่างไร เขาจะได้อะไร จะเสียอะไร เรื่องนี้ต้องชัดเจนทั้งหมด แต่เรื่องนี้ไม่ชัดเจนอะไรซักอย่าง แต่จะเอาที่ดินไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน อย่างนี้มันไม่ใช่แล้ว

อันที่สองเรื่องอุตสาหกรรม ชนิดอุตสาหกรรมที่จะเอามาลงคืออะไร มีผลกระทบอะไรบ้าง อุตสาหกรรมอะไรที่จะเอื้อต่อพื้นฐานของวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อคนท้องถิ่นในเรื่องรายได้ด้วย มีหรือไม่อย่างไร แต่ชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องอะไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องชัดเจน บ้านเรากำกวมตลอด เอาแต่หัวข้อมาพูด แต่รายละเอียดที่เป็นเรื่องสำคัญไม่มี

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย

อุตสาหกรรมส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะเอาอุตสาหกรรมอะไรบ้างมาลงที่เชียงของบ้าง นิวัฒน์กล่าวว่า 10 อุตสาหกรรม เช่น ฟอกหนัง ฯลฯ หลายอย่างมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มีเรื่องสารพิษ มีผลกระทบต่อการใช้น้ำต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมนี่เรื่องน้ำแน่นอน และศึกษาหรือยังว่า ถ้าเข้ามาทำในพื้นที่เชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำอิง เป็นพื้นที่เกษตรเพื่อการปลูกข้าว ปลูกข้าวหอมมะลิได้ดีมาก ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูได้ดีมาก เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้มันใช้น้ำอยู่แล้ว การปลูกข้าวเราต้องยอมรับว่าใช้น้ำ ทีนี้มาทำเรื่องอุตสาหกรรมก็ไม่พ้นการใช้น้ำอีก และปัจจุบันเราเห็นชัดเจนว่าแม่น้ำอิงแห้งอยู่แล้ว มันก็เหมือนมาเพิ่มวิกฤตหรือสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรอีก

เมื่อถามว่า แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้คิดว่าทรัพยากรในท้องถิ่นจะไปเอื้อกับอุตสาหกรรมอย่างไร หรืออุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นอย่างไร ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เขาคิดมุมเดียว คิดว่านี่ไงมีแม่น้ำอิงแล้ว ใช้ได้แล้ว แต่เขาลืมไปว่าแม่น้ำอิง มีคนอยู่ในลุ่มน้ำมากี่ร้อยปี กี่พันปีแล้ว รัฐคิดแค่ว่านี่ใช้ได้แล้ว ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปทั้งหมด นี่คือประเด็นใหญ่ๆ ผมอยากพูดประเด็นใหญ่ๆ ให้รัฐได้เข้าใจได้พิจารณา เพราะว่าบ้านเราไม่มองให้เห็นภาพรวมทั้งหมด สุดท้ายท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมอย่างไร นี่เป็นเรื่องสำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ก่อนมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 กับหลังจากมีสะพานแล้ว แตกต่างกันอย่างไร นิวัฒน์กล่าวว่า รายได้ของคนเชียงของ พื้นฐานทำเกษตรกรรม ค้าขาย ประมงในแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา เพราะเชียงของเหมาะแก่การท่องเที่ยว เพราะเป็นเมืองทั้งอากาศ แม่น้ำโขง ความงดงาม ทำให้เป็นอาชีพสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในเชียงของ ตั้งแต่เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าปี 2532-2533 และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ผู้คนผ่านด่านเข้ามาท่องเที่ยว คนในตัวเมืองเชียงของก็หากินอยู่กับการท่องเที่ยว ทั้งร้านอาหาร รถถีบสามล้อ ที่พัก ฯลฯ

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2556 มีการเปิดสะพาน สิ่งที่ปรากฎขึ้น เมื่อมีการเปิดสะพานก็คือ จำนวนนักท่องเที่ยวในเชียงของลดลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น รถถีบสามล้อ รายได้ลดลงจากวันละ 500-600 บาท เหลือเพียง 100 บาท เรือข้ามฟากของชาวบ้านที่มีรายได้มาโดยตลอดที่ด่านถาวร รายได้วันหนึ่ง 600-700 บาท ก็มีรายได้ 100 กว่าบาท ไม่ถึง 200 บาท มีผลกระทบหมด โรงแรมที่พักทุกอย่าง เพราะอะไร เพราะว่าเขาย้ายด่านพาสปอร์ตไปไว้ที่นั่น เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่ใช้พาสปอร์ตมาผ่านด่านที่นี่ไม่ได้ ใช้ได้แค่บอร์เดอร์พาสต์ที่ท่าเรือบั๊คเชียงของ ก็มีผลกระทบทันที นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากสะพาน

“ถามว่าสะพานนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุดตอนนี้ ถามว่าคนท้องถิ่นได้อะไร เกี่ยวกับการค้ามั้ย ผมว่าไปดูได้เลย รัฐไปดูได้เลยว่าคนท้องถิ่นไปค้าขายตรงโน้นมั้ย ผมว่าไม่”

นิวัฒน์กล่าวต่อว่า เขาค้าขายที่ท่าเรือ เพราะในอดีตเชียงของก็ค้าขายกับห้วยทรายทางเรือ แต่นี่ต้องออกไปนอกเมือง 6-7 กิโลเมตร ข้ามไปลาว แล้วไปเมืองห้วยทรายอีก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น คนท้องถิ่นทำไม่ได้หรอก คนเล็กคนน้อยก็ค้าหมื่นสองหมื่นสูงสุดก็แสน เพราะฉะนั้นสะพานนี้ไม่ได้เอื้อต่อคนท้องถิ่นเลย มันกลับไปเอื้อต่อทุนใหญ่เท่านั้น รถ 18 ล้อ 20 ล้อ 24 ล้อ บรรทุกสินค้ามาจากไหน มาจากส่วนกลาง มาจากโรงงานอุตสาหกรรม เชียงรายยังไม่ได้เลย พ่อค้าเชียงรายยังไม่ได้เลย ไปดูก็ได้ที่สะพาน ว่าคนท้องถิ่นไม่ได้อะไรเลยแต่จะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นได้ด้วย คุณก็ต้องลดอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง กฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้กับคนท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า อีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรกับตรงนี้บ้าง จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมันต้องอีก 2 ปี กว่าจะขยับเป็นตัวเป็นตน สิ่งที่จะเดินไปข้างหน้าก็คือ แน่นอนเชียงของเปลี่ยน ทั้งด้านกายภาพ ตึกรามบ้านช่อง อาคารบ้านเรือนเกิดขึ้นมากมายแน่นอน ถนนหนทาง ผู้คนเข้ามา เราก็ยังหวังว่าคนท้องถิ่นน่าจะสอดแทรกและยืนอยู่ได้ ด้วยสิ่งที่เราเตรียมและพยายามขับเคลื่อนกันอยู่

“คิดว่าความเปลี่ยนแปลงและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น น่าจะทำให้เกิดความสมดุลย์ที่สุดได้ อย่างร้อยหนึ่ง ชาวบ้านได้ซักห้าสิบก็ยังดี ดีกว่าได้ห้าบาท หนึ่งบาท จากร้อยบาท และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราเน้นย้ำก็คือ สิ่งที่จะได้ การเปลี่ยนแปลงนี่เราไม่ว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้เรื่องใหญ่ ต้องรักษา คุณจะไปบอกว่าความเปลี่ยนมันต้องยอมเสียบ้าง ต้องยอมเสีย มันไม่ใช่ ยกตัวอย่างแม่น้ำสำคัญ จะไปให้เสียได้ยังไง เสียแล้วใช้ไม่ได้ เรื่องนี้ยอมไม่ได้ แต่ยอมได้เรื่องผลประโยชน์ เรื่องการค้าว่าเรายอมได้กำไรน้อยหน่อย พี่น้องประเทศเพื่อนบ้านได้เยอะหน่อยไม่เป็นไร อย่างนี้พอยอมกันได้ แต่จะมายอมเรื่องป่าเรื่องเขาเรื่องน้ำเรื่องแผ่นดิน มันเป็นเรื่องของความยั่งยืนไม่ได้”

นิวัฒน์กล่าวอีกว่า รัฐต้องรีบให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารต้องชัดเจนทั้งหมด ไม่ต้องปกปิดอีกแล้ว ไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว เพราะถ้ากล้าๆ กลัวๆ กลัวชาวบ้านจะรู้ข้อมูลมาก หรือกลัวจะเป็นปัญหา ก็จะเป็นปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเราพูดกันคุยกัน มนุษย์ต้องหาจุดร่วมให้ได้ เมื่อหาจุดร่วมได้แล้ว วันหนึ่งก็มาร่วมได้ มันจะมาหาวิธีการที่จะมาร่วมกันได้ อันนั้นต่างหากที่ต้องทำ รัฐต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ในเรื่องการพัฒนา ถ้าจำเจอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นเหมือนการพัฒนาที่ผ่านมา จะทำให้ท้องถิ่นล่มสลาย วิถีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ล่มสลาย สุดท้ายไม่รู้ว่าพัฒนาแล้วเพื่อใคร เพื่อชาติก็คือคนนั่นเอง

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง