กลุ่มทุนจีนทำธุรกิจอันดับต้นๆ ในเชียงใหม่
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กลุ่มทุนจีนเป็นทุนต่างชาติอันดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีนิติบุคคล 52 แห่งใน จ.เชียงใหม่ ที่มีนักธุรกิจสัญชาติจีนถือหุ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 52.49 ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นมากกว่า 580 ล้านบาท
ลักษณะการเข้ามาทำธุรกิจ คือ หาหุ้นส่วนที่เป็นบุคคลสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 51 ส่วนอีกร้อยละ 49 เป็นของนักลงทุนชาวจีน
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ค้นข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยในรายชื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนใน จ.เชียงใหม่ และมีนักลงทุนชาวจีนเป็นหุ้นส่วน พบว่าแทบทุกบริษัทมีคนไทยถือหุ้น และมีบริษัทส่วนหนึ่งที่มีชาวจีนถือหุ้นรวมอยู่ด้วยหลายคน และเมื่อดูถึงการเข้า-ออกของผู้เป็นหุ้นส่วน พบว่าหลายแห่งมีการจัดสรรหุ้นส่วนให้ทั้งคนไทยและชาวจีนคละกันไป มากบ้างน้อยบ้าง บางแห่งมีการแจ้งเข้า-ออกจากการครอบครองหุ้นหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพบข้อมูลของผู้ถือหุ้นคนไทยใน 2 บริษัท ที่น่าสนใจ บริษัทแรกที่มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีชื่อสามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นผู้ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 51 โดยภรรยาประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง
“นอมินี” ตัวแทนที่น่าจับตามอง
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบสุภาพสตรีที่มีชื่อระบุในหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อสอบถามถึงบริษัทดังกล่าว เธอบอกว่าไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อที่พูดถึงและไม่รู้ว่าเธอและสามีมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นได้อย่างไร
แต่เมื่อเดินทางไปพบกับเธออีกครั้ง หลังจากครั้งแรก 3 วัน เธอกลับยอมรับว่า มีคนสนิทขอยืมชื่อเธอและสามีไปใช้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ มากไปกว่านี้ บอกเพียงแต่ว่าไม่ทราบ
ส่วนอีกคนเป็นชาย ระบุตามที่อยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น พบว่าอยู่ในอำเภอหนึ่งใน จ.พะเยา เป็นหุ้นส่วนร่วมกับนักลงทุนชาวจีน โดยถือหุ้นกว่าหนึ่งหมื่นหุ้น มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เมื่อค้นข้อมูลจากเว็บไซต์พบว่า ชายคนนี้เคยขับรถตู้รับจ้างเมื่อปี 2552 และแม้พบตัวชายคนดังกล่าว ที่บ้านหลังหนึ่งใน จ.พะเยา แต่เขาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใดๆ ระบุเพียงว่า ตัวเองถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจริง
เป็นที่สังเกตว่า เมื่อสอบถามถึงการทำงานปัจจุบันของชายที่ จ.พะเยา และสามีของสุภาพสตรีที่ขายอาหารตามสั่งพบว่า ทั้งสองประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่า นักธุรกิจชาวจีนมีโอกาสพบกับผู้ที่คาดว่าถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินี ขณะที่เข้ามารับเหมาก่อสร้างกิจการให้กับกลุ่มนักธุรกิจจีนด้วยกัน จนเป็นที่ไว้วางใจ
แม้หลายฝ่ายเริ่มจับตาการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจชาวจีน โดยใช้ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยเป็นตัวแทนหรือนอมินี แต่บางส่วนกลับมองว่า การใช้คนไทยเป็นนอมินี ถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
นักวิชาการชี้ถ้าไทยยังได้ประโยชน์ก็ไม่แปลก
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ แสดงความเห็นกับไทยพีบีเอสออนไลน์ในประเด็นนี้ว่า เหตุที่ต้องมีนอมินีเพราะประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดประเภทกิจการที่ห้ามคนต่างชาติทำ แต่เดิมนักลงทุนที่เป็นฝรั่งมีปัญหาน้อย เพราะว่าส่วนใหญ่เขามาซื้อขาย และทำโรงแรมเป็นหลักเป็นฐาน แต่คนจีนอยากทำกิจกรรมทุกอย่าง รวมทั้งกิจกรรมการเกษตรด้วย ทำให้เขาต้องมาเช่าที่ดินซื้อที่ดิน เขาจึงต้องมีนอมินี
“เรากลัวนอมินีเพราะอะไร นอมินีไม่ดีอย่างไร นอมินีที่มาแล้วมาประกอบกิจการถูกต้องทุกอย่าง มาจ้างคนไทย ใช้วัตถุดิบในเมืองไทย เป็นนอมินีของต่างชาติที่หลงใหลในล้านนา ใช้อัตลักษณ์ล้านนาทำอะไรถูกต้อง ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร แต่ถ้ามาค้ามนุษย์ถึงจะเป็นนอมินีหรือคนไทย ก็ต้องจับ และตอนนี้รัฐบาลบอกว่า ให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ แล้วทำไมคนอื่นจะมาลงทุนในเมืองเราไม่ได้ ทำไมเราจึงสองมาตรฐาน อันนี้เราต้องถาม กิจการอะไรที่นอมินีหรือไม่นอมินี แต่มันแย่ เราไม่ควรให้มีเลย และใครทำผิดก็ควรถูกจับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน รัสเซีย ฯลฯ” ดร.มิ่งสรรพ์ระบุ
ที่ไหนก็มีนอมินีถ้ากฎหมายไม่เอื้อ
นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ยังมองอีกว่า เราบอกว่าเราเปิด AEC แล้ว และคิดว่าคนลาว คนพม่า ที่เข้ามาทำธุรกิจเขาไม่มีนอมินีหรือ ชาติไหนเขาก็มีนอมินีกัน แต่ถ้าคุณให้เขามาลงทุนในกิจการที่ต้องใช้ที่ดิน เขาก็ต้องมีนอมินี ถ้าเขามาซื้อขายก็ไม่ต้องมีนอมินี ซื้อมาขายไปไม่ต้องมีนอมินี แต่ที่เขาต้องมีเพราะมีการซื้อสถานที่ และเขาคิดว่าเขาควบคุมไม่ได้จึงต้องมีนอมินี
“ร้านดำน้ำที่ภูเก็ต กระบี่ ฝรั่งแต่งงานกับผู้หญิงไทยทั้งนั้น เพราะเราไม่มีคนไทยทำกิจการประเภทนี้ ฝรั่งที่เปิดร้านปีนเขาก็มีภรรยาเป็นคนไทย แล้วทำไมจะมีกังวลกับนอมินีของคนจีน แต่ถ้าบอกว่ามีนอมินีแล้วทำให้กิจกรรมนี้ไม่ปลอดภัย ไม่เสียภาษี เป็นใครก็จับให้หมด ในที่สุดจะเกิดชุมชนจีนใหญ่ขึ้นมา แล้วก็จะต้องมีการแต่งงานกับคนไทย คุณไม่มีวันห้ามได้ เรายังมีผู้หญิงอีกเยอะแยะที่อยากจะแต่งงานกับคนจีน และมีผู้หญิงที่มีการศึกษาดีๆ รักกับคนจีน ฉะนั้นเราจะมาใช้เชื้อชาติในการแบ่งแยกไม่ได้ เราต้องใช้กฎระเบียบ”
แนะตรวจสอบประวัติการเงินของนอมินี
ขณะที่ มานพ แซ่เจีย ประธานชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา มองว่า การตรวจสอบนอมินีไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงตรวจสอบประวัติทางการเงินของบุคคลที่มาเป็นผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่สิ่งที่มานพกังวลมากกว่า คือการเป็นนอมินีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อเนื่องให้กระทบกับนักธุรกิจในท้องถิ่น และทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์
“นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเป็นคนหัวการค้า การลงทุน ก็เข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว หลังจากนั้นก็เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับคนที่เขารู้จัก พาไปมองหาคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ ที่คนไทยเป็นเจ้าของกิจการ จากนั้นจะไปขอเช่าในระยะยาว อาจจะ 10 ปี หรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นเอามาให้คนไทยเช่าหรือต่างชาติเช่า ซึ่งจะมีผลในรูปแบบการเสียภาษี เพราะว่า สรรพากรเขาระบุว่า การเช่าแบบรายวัน กับแบบรายเดือนภาษีที่จะต้องเสียก็แตกต่างกัน แต่เมื่อคนจีนได้เช่าระยะยาว เขาก็ปรับปรุงอพาร์ตเม้นท์ให้ดีกว่าเดิม และเปลี่ยนรูปแบบการเช่าจากรายเดือนเป็นรายวัน รูปแบบเหมือนโรงแรม
หากธุรกิจแบบนี้มีนักลงทุนจีนเข้ามาทำมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนชาวไทย คนท้องถิ่น แน่นอน เพราะว่าการแข่งขันสู้เขาไม่ได้ เพราะชาวจีนที่เข้ามาลงทุน เขาสามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนมาพัก ในโรงแรมของเขา โดยวิธีโฆษณาทางโซเชียลมีเดียของจีน ซึ่งคนจีนสามารถเข้าไปหาข้อมูลตรงนั้นได้ดี ซึ่งจะทำให้มีลูกค้ามากกว่าโรงแรม รีสอร์ทที่เจ้าของเป็นคนไทย ที่เข้าถึงลูกค้าได้ไม่เก่งเท่านักลงทุนชาวจีน ในระยะยาวมีผลกระทบแน่นอน” มานพ ระบุ
หวั่นนักธุรกิจท้องถิ่นเสียเปรียบ
นนท์ หิรัญเชรษฐ์เลขาธิการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน เล่าให้ฟังถึงผลกระทบของการเข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของคนจีนในเชียงใหม่ว่า
“ปัจจุบันโรงแรมที่เคยมีชื่อเสียงของเชียงใหม่ เช่น โรงแรมพรพิงค์ โรงแรมเพชรงาม โรงแรมที่อยู่ ถ.ช้างคลาน ซึ่งถือว่าเป็นโรงแรมที่สุดยอด เพราะติดไนท์บาซาร์ใครก็อยากจะมาพัก แต่เดี๋ยวนี้ห้องคืนละ 1,500-2,500 บาท ยังว่างเลย เพราะกลุ่มทัวร์คนจีนมาก็มาพักของตัวเอง โรงแรมที่ไปพักก็เป็นประเภทบูติก ซึ่งเป็นโรงแรมที่คนจีนชอบ เพราะจะออกแบบไปทางล้านนา เมื่อมาพักแล้วเหมือนได้อยู่เมืองเชียงใหม่ คืนหนึ่งราคา 5,000 บาท ขึ้นไป แต่นักท่องเที่ยวกลับชอบ ในอนาคตส่งผลกระทบต่อโรงแรมท้องถิ่นอย่างแน่นอน”
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยก่อนหน้านี้ด้วยว่า ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การบริการ พบว่า มีคนไทยให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจชาวต่างชาติ ในลักษณะนอมินีเช่นกัน
ธุรกิจที่พบว่าให้คนไทยเป็นนอมินีมี 10 กลุ่ม คือ โรงแรม, ร้านอาหาร, ซื้อขายให้เช่าอสังหาริมทรัพย์, นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์, รถเช่า, สปา, ร้านขายของที่ระลึก, ธุรกิจขายปลีกผ่านอินเทอร์เน็ต, ธุรกิจขายตรง และสินค้าเกษตร โดยจังหวัดที่พบการกระทำผิด ได้แก่ จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สมุย ภูเก็ต กระบี่ ตราด ชะอำ หัวหิน เชียงใหม่ และเชียงราย
ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังสืบหาข้อมูลเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้
เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน