ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์เข้าไปสังเกตในร้านขายยาแห่งหนึ่งบน ถ.นิมมานเหมินทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า ยาสมุนไพร เช่น ยาหม่องและน้ำมันนวด เป็นสินค้ายอดนิยมที่นักท่องเที่ยวสัญชาติจีนต่างเลือกหาซื้อ โดยทางร้านจะนิยมขายแบบยกโหล มากกว่าแบบเป็นขวดเดียว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อได้คราวละมากๆ และไม่ยุ่งยากในการขนส่ง เพื่อนำเดินทางกลับไปเป็นของที่ระลึกที่ประเทศจีน
พนักงานขายเล่าว่า นักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อยาสมุนไพร จำพวกยาหม่อง ผลไม้อบแห้ง และเครื่องใช้เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อนำไปฝากญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัว และซื้อคราวละมากๆ บางครั้งก็ให้ทางร้านจัดส่งให้ เพื่อไม่เป็นภาระในการเดินทาง
ร้านขายยาแห่งนี้จัดหาพนักงานที่สามารถพูดและเขียนภาษาจีนกำกับสินค้าในร้านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาซื้อสินค้า แม้นักท่องเที่ยวชาวจีนจะจ่ายเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้า แต่ทางร้านก็มีระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นตัวเลือกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนเช่นกัน
2 แอพพลิเคชั่นยักษ์ใหญ่ฮิตในตลาดจีน
ร้านขายยาแห่งนี้ ไม่ใช่แห่งแรกที่ติดตั้งระบบดังกล่าว แต่เกือบทุกร้านบน ถ.นิมมานเหมินทร์ มีระบบชำระเงินนี้ โดยลูกค้าชาวจีนสามารถทราบผ่านป้ายประชาสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่หน้าร้าน ซึ่งมีอยู่สองบริษัทที่เข้ามาเปิดบริการในเมืองเชียงใหม่ คือ Ali-pay ของบริษัท อาลีบาบากรุ๊ป และ Wechat pay ของบริษัท เทนเซนต์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด จำกัด (มหาชน) เจ้าของแอพลิเคชั่น วีแชท ซึ่งมียอดผู้ใช้ 580 ล้านคน ในประเทศจีน ส่งผลให้วีแชทเพย์ เป็นระบบชำระเงินที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนมากที่สุดในขณะนี้
เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าและต้องการชำระเงิน เพียงใช้โทรศัพท์มือถือสแกนบาร์โค้ดที่ติดตั้งไว้ที่ร้านค้า ก็จะปรากฏชื่อร้านค้าและระบุจำนวนเงินที่ต้องการชำระ
เมื่อใส่ยอดเงินชำระสินค้าเป็นค่าเงินบาท ระบบของแอพลิเคชั่นจะแปลงค่าเป็นเงินหยวนทันที เพื่อให้ลูกค้าชาวจีนเข้าใจง่ายขึ้น จากนั้นกดตกลงชำระค่าสินค้า ยอดเงินจากบัญชีธนาคารที่ลูกค้าผูกไว้กับแอพลิเคชั่น ก็จะโอนเงินค่าสินค้ามาให้ในบัญชีธนาคารของร้านค้าไทยในรูปแบบค่าเงินบาท
หวั่นอนาคตไทยจะเสียเปรียบ
ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในเชียงใหม่เห็นว่า ระบบนี้ทำให้ร้านค้าไทยค้าขายกับนักท่องเที่ยวจีนได้ง่ายขึ้น และยังเป็นระบบที่เปิดให้ใช้ฟรี แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบชำระเงินลักษณะนี้ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบได้ในอนาคต
มานพ แซ่เจีย ประธานชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า คนจีนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าตอนนี้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศจีน จะเห็นว่าการใช้ชีวิตของคนจีนเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่ในกระเป๋าพกเงินสดไปจับจ่ายซื้อสินค้าอะไรต่างๆ ทุกวันนี้เขาใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ก็สามารถเดินทางไปทั่วประเทศจีน โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวใช้แอพพลิเคชั่น ชำระค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถทัวร์ ซื้อสินค้า ฯลฯ โดยไม่ต้องใช้เงินสดหรือบัตรเครดิตเลย เมื่อนักลงทุนจีนเข้ามามาก สิ่งเหล่านี้ก็จะเข้ามาในประเทศไทย จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเฝ้าติดตาม เพราะเหมือนกับว่าเดิมเราใช้บัตรเครดิตรูด และค่าใช้จ่ายไปอยู่ที่วีซ่า จากนั้นวีซ่าก็ไปจ่ายให้ร้านค้า แต่กระบวนการนี้เริ่มเปลี่ยนแล้ว จีนสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้นมา ซึ่งมองแล้วน่ากลัว
“หลังจากนี้ไปกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยหรือเชียงใหม่ จะใช้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นระบบที่ผ่านเครือข่าย วีแชต ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการโดยตรงผ่านเครือข่ายนี้ และเงินจำนวนนี้จะผ่านระบบเข้าไปยังประเทศจีน หลังจากนั้นจึงจะโอนกลับมาที่ร้านค้าในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตเราไม่สามารถบอกได้ว่า เขาจะหักค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอย่างไร ซึ่งในอนาคตหากเครือข่ายนี้เข้มแข็งและแน่นหนามากขึ้นก็น่าเป็นห่วง” มานพกล่าว
นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ
ขณะที่ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ บอกว่า ประเทศไทยควรหันมาศึกษาพฤติกรรมการใช้ระบบ E-Commerce ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเลือกหาสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ ไปจนถึงระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะในอีก 5 ปี ข้างหน้า หากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยยังเติบโตในอัตราปัจจุบัน จะมีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 25 ล้านคน ที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยไม่ศึกษาตลาดในระบบ E-commerce ของจีน ก็จะเป็นช่องโหว่ให้บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาฉวยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้
E-commerce ของจีน มักไม่เป็นที่นิยมกับนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ หรือที่เรียกว่าพวก "SO-LO-MO"
SO-Social หมายถึงพวกที่ติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก LO- Local พวกที่ชอบเดินถ่ายรูปในเมือง แบบนักท่องเที่ยวบ้านเรา MO-Mobile เขาจะใช้โทรศัพท์มือถือ คนกลุ่มนี้จะไปโน่นมานี่ของเขาเอง คนกลุ่มนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตในจีนสูงมาก เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าเป็น Mass tourist กลุ่มชาวนาอะไรพวกนี้จะค่อยๆ ลดลงไป แต่เนื่องจากจีนมีประชากรมาก เราจึงไม่เห็นเขาลดลง และเนื่องจากคนรุ่นใหม่นี้เป็นกลุ่มที่ใช้โทรศัพท์มือถือ เขาไม่ถือเงิน เขาจ่ายเงินโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้นอีคอมเมอร์ซในเมืองจีนใหญ่โตมโหฬารมาก และบริษัทที่ให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ก็เริ่มไปควบรวมกับเอเยนต์ทัวร์ และมีแพลตฟอร์มที่ขายสินค้า
สะดวกกว่าใช้เงินสด ไม่ยุ่งยากทั้งเก็บและใช้
“ระบบนี้มีความสะดวกกับการท่องเที่ยว เขาไม่ต้องมานั่งแยกแบงค์ สีนี้เป็นอะไร แบงค์ไหนใหญ่ เหรียญอะไร เขาไม่ต้องแยกเลย เขาดูตัวเลขแล้วเขาก็จ่าย เขาก็จะชอบแบบนั้น แต่ปัญหาก็คือ จำนวนหนึ่งไม่ผ่านระบบภาษีไทย เพราะเขาไปซื้อมาจากจีน จำนวนหนึ่งซื้อขายที่นี่เรายังได้อยู่ แต่ในระยะยาวมันอาจจะมีปัญหาว่า ที่สุดแล้วคนไทยก็ต้องไปขึ้นอยู่กับอีคอมเมอร์ซของจีน แล้วก็จะกลายเป็นว่า อีคอมเมอร์ซของจีนก็จะสามารถควบคุมตลาดได้ ตอนแรกเขาก็ให้ร้านค้าเป็นสมาชิกฟรี ต่อไปพอเขาจัดอะไรเป็นโปรโมชั่น เขาก็จะถามว่าใครจะเข้าร่วมต้องเสียเงิน เราไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับคนไทยในกรณีจีน เราไม่ได้มีอีคอมเมอร์ซของเรา ที่เราไม่มีเพราะว่า เราไม่มีปริมาณมากพอ แต่อย่างในจีน เขาเที่ยวในประเทศ 3 พันล้านคน เขาคลิกทีหนึ่ง สมมุติว่าเขาได้ 1 หยวน ปีหนึ่งเขาได้ 3 พันล้านหยวน เขาได้เงินแค่ 1 หยวนในการทำธุรกรรม เขาทำเรื่องเดียว คนเดียว ไม่ต้องทำทุกเรื่องก็ได้” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์กล่าว
นั่นหมายความว่า ในเวลานี้รัฐบาลควรรับมือกับการท่องเที่ยวหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวใหม่ เพื่อให้เท่าทัน เพราะจากสถิติล่าสุดพบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้ คือ นักท่องเที่ยวสัญชาติจีน ซึ่งปีที่ผ่านมา (2558) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทย 7.8 ล้านคน นำรายได้มาสู่ไทย 3.7 แสนล้านบาท
ขณะนี้ร้านค้าหลายแห่งเริ่มใช้บริการ Mobile Payment ของบริษัทจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีน แต่หลายฝ่ายก็กังวลว่า ระบบนี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกรรมทางการเงินและธุรกิจอีคอมเมอรซ์ในอนาคต
เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน