ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พลิกปมข่าว : เทคโนโลยีต้นเหตุความไม่ยุติธรรม? ศึกวอลเลย์บอลหญิงโอลิมปิก รอบคัดเลือก ไทย-ญี่ปุ่น

กีฬา
19 พ.ค. 59
22:03
1,879
Logo Thai PBS
พลิกปมข่าว : เทคโนโลยีต้นเหตุความไม่ยุติธรรม? ศึกวอลเลย์บอลหญิงโอลิมปิก รอบคัดเลือก ไทย-ญี่ปุ่น
วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยแพ้ทีมชาติญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ (18 พ.ค. 2559) ในศึกรอบคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งทั้ง 2 ทีมก็ใช้ระบบเดียวกัน แต่ทำไมหลายฝ่ายจึงมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรม

วันนี้ (19 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ในข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงปลายเซตที่ 4 และในช่วงเซตสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่ไทยต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นแต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เพราะกรรมการอ้างว่าไม่พบสัญญาณที่ไทยกดขอผ่านระบบนี้

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก ที่ทำให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยและวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นเป็นคู่รัก-คู่แค้นกันในเกมกีฬา เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทีมชาติญี่ปุ่นเคยทำให้ทีมชาติไทยไม่ได้ไปโอลิมปิกเช่นเดียวกัน

ซึ่งการแข่งขันวอลเลย์บอลโอลิมปิก 2016 รอบคัดเลือกครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า “FIVB tablet” มาใช้ เช่น หากต้องการเปลี่ยนตัวผู้เล่นก็ต้องกดผ่านไอแพด จากนั้นสัญญาณจะขึ้นที่โต๊ะผู้บันทึกการแข่งขัน ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้เป็นความผิดพลาดของระบบหรือของกรรมการ

ด้าน โค้ชอ๊อด-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เปิดใจว่า เขายืนยันว่าทำตามกติกาการแข่งขัน แต่เมื่อเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่อาจจะมีปัญหา จึงใช้วิธีการหยุดเกมหรือ ชาเลนจ์ ซิสเต็ม เพื่อขอเปลี่ยนตัวผู้เล่นด้วยภาษากาย แต่กลับเกิดเหตุการณ์ซึ่งนำมาสู่การตัดคะแนนทีมชาติไทย

ซึ่งระบบการขอชาเลนจ์ในการแข่งขันครั้งนี้ อยู่ภายใต้เทคโนโลยี อี-สกอร์ ชีท (E-Score Sheet) ถูกควบคุมผ่านแท๊บเล็ด ที่เรียกว่า FIVB Tablet โดยมีคำสั่งหลักอยู่ 7 คำสั่ง คือ 1.ลูกลง-ลูกออก กดที่ปุ่มบอล อิน-เอาท์ 2.บล็อก ทัช 3.เน็ต ทัช 4.ANTENNA 5.ล้ำเส้นกลางสนาม 6.เหยียบเส้นเสิร์ฟ และ 7.เหยียบเส้น 3 เมตร

เมื่อโค้ชกดปุ่มคำสั่ง 1 ใน 7 การแจ้งเตือนจะไปปรากฎที่เครื่องควบคุมของกรรมการกลาง จากนั้นกรรมการกลางจะยืนยันคำขอ และนำไปสู่การหยุดเกมเพื่อตรวจสอบ

กรณีนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถาม ประเด็นแรกคือระบบผิดพลาด ประเด็นต่อมาคือกดติดแต่กรรมการกลางไม่ยืนยันคำขอ และประเด็นสุดท้ายการประท้วงของโค้ชทีมไทยเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่ง นายพิสิษฐ์ นัทธี ผู้จัดการทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยยืนยันว่าได้ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุด

ขณะที่ การทำหน้าที่ของ นายหลุยส์ เจอราโด มาเซียส กรรมการจากเม็กซิโกวัย 45 ปี กำลังถูกวิพากวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในโซเชียล เพราะการตัดสินที่กลายเป็นปัญหาถูกมองว่ามีส่วนช่วยให้ญี่ปุ่นชนะทีมชาติไทย 

นายทรงศักดิ์ เจริญผล ประธานผู้ตัดสินสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบดีพอ

ด้านนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยยอมรับว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นเรื่องธรรมดา

ทั้งนี้ กระแสแมทช์สำคัญวอลเลย์บอลหญิงไทย-ญี่ปุ่น ยังทำให้คำสำคัญ เช่น No-fair หรือแฮชแทก #วอลเลย์บอลหญิง กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมติดอันดับต้นๆ

การวิพากษ์โดยประชาชนและแฟนกีฬาของคนชาติญี่ปุ่น ชวนให้พลิกปมคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มาสู่การเรียนรู้วัฒนธรรมการวิจารณ์บนข้อเท็จจริง ที่ก้าวข้ามความรู้สึกแบบชาตินิยม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง