นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปลี่ยนจากการตั้งโต๊ะแถลงข่าวมาเป็นการยืนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว พร้อมกับออกตัวว่าเป็นการแสดงความเห็นในฐานะคนไทย เลขา กปปส.และตัวแทนประชาชน ซึ่งเมื่อมีผู้สื่อข่าวมาถามความเห็นก็เป็นสิทธิตามกฎหมายที่จะแสดงความคิดเห็นได้ซึ่งไม่ได้เป็นการโน้มน้าวใคร
นายสุเทพกล่าวว่า ชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่คำปรารภที่ชี้แจงถึงเหตุวิกฤตประเทศในอดีตไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการกำหนดเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ที่สำคัญยังกำหนดทางออกวิกฤตไว้โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมผู้นำฝ่ายค้านและองค์กรอิสระ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา
"ผมชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และชอบเป็นพิเศษ เรียกว่าชอบตั้งแต่คำปรารภของรัฐธรรมนูญเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนคำปรารภได้ถูกใจมากเพราะได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ของคนทั้งประเทศว่าเราต้องการให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และระบุชัดเจนว่ามีเป้าหมายเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่เพียงแต่อ่านคำปรารภก็ถูกใจแล้วสำหรับพวกผม"
ในส่วนของเนื้อหานั้น นายสุเทพกล่าวว่า สิ่งที่ถูกใจ กปปส.มากที่สุดคือมีการเขียนเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้เป็นหมวดพิเศษซึ่งไม่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน
"เมื่อ คสช.ยึดอำนาจ มวลมหาประชาชนก็ตั้งความหวังว่าคงจะได้มีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นและก็เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช.และนายกฯ ก็พยายามผลักดัน ที่เห็นได้ชัดคือการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น แต่ยังมีหลายเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข บางเรื่องต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ คงทำไม่เสร็จ แต่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ชัดเลย ทำให้ความหวังของประชาชนที่ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศชัดเจนขึ้น" นายสุเทพกล่าว
ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แถลงจุดยืนทั้งต่อร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช.ให้ความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะส่งผลให้การเมืองการปกครองถอยหลังไปจากเดิม
นางธิดากล่าว กลุ่ม นปช.ได้วิเคราะห์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คาดว่าหากได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติจะทำให้เกิดผลทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมหลายอย่างที่เป็นข้อน่ากังวล ในส่วนของผลทางการเมือง เช่น
-ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้จำนวน ส.ส.ไม่ห่างกันมาก แต่พรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส.มากขึ้น นำไปสู่รัฐบาลผสม
-ทำให้มีโอกาสได้นายกฯ คนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส.
-ทำให้ได้ ส.ว.ที่่มาจากการแต่งตั้ง สรรหา หรือเลือกกันเอง จะสามารถยับยังการแก้กฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนฯ แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพราะที่มาของ ส.ว.ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตถึงเนื้อหา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า "ภายหลังจากที่มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยนายมีชัยและคณะเสร็จสิ้น และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา สังคมไทยในขณะนี้อยู่ท่ามกลางความสับสน ในความกลัวในเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐธรรมนูญ" นายจตุพรรระบุ
นายจตุพรหยิบยกเนื้อหาของมาตรา 61 วรรค 2 ว่าจะทำให้ประชาชนสับสนและเกิดความหวาดกลัวในช่วงที่กำลังพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนลงประชามติ โดย นปช.เตรียมเข้าพบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามความชัดเจนอีกครั้งสัปดาห์หน้า
มาตรา 61 วรรค 2 กำหนดว่า ผู้ใดเผยแพร่ข้อความ ภาพ และเสียง ผ่านสื่อต่างๆ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือ ข่มขู่ ให้ออกเสียงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่งจะเข้าข่ายก่อความวุ่นวายและต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี
"คำว่าก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่นั้น เป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน" นายจตุพรกล่าว
ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายจตุพรกล่าวว่า "พวกผมเองได้แสดงเจตนาโดยส่วนตัว ไม่ได้ชักชวนใคร คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้" พร้อมกับเรียกร้องให้ กกต.และรัฐบาลเปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้