ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สนช.ลงมติ 171 ต่อ 1 ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

การเมือง
7 เม.ย. 59
21:11
264
Logo Thai PBS
สนช.ลงมติ 171 ต่อ 1 ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ
สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติแล้ว 171 ต่อ 1 เสียง ส่งกลับ คณะรัฐมนตรีประกาศราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย

วันนี้ (7 เม.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติแล้ว 171 ต่อ 1 เสียง ส่งกลับ ครม.ประกาศราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย พร้อมส่งคำถามพ่วงประชมติ ให้รัฐสภาโหวตนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. มีมติ 142 : 16 เสียง เห็นชอบให้มีการตั้งคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีมติ 152 : 0 เสียง เห็นชอบ คำถาม ของ วิป สนช. โดยหลังจากนี้ สนช. จะดำเนินการส่งคำถามให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.2559) เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการทำประชามติต่อไป

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "ประชามติในระยะเปลี่ยนถ่าน" ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนจากเว็บไซต์เครือข่ายประชามติ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์ออกเสียงประชามติว่ามีการกำหนดระวางโทษจำคุกและปรับหากมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความและนำมาสู่การปิดกั้นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนถึงวันทำประชามติ

ตัวแทนจากเว็บไซต์เครือข่ายประชามติยังได้เปิดเผยความเห็นของคนที่เข้ามาออกเสียงในแอพพลิเคชั่น "PEOPLE POLL" ว่าร้อยละ 65 ไม่ทราบว่าจะมีคำถามที่จะพ่วงมากับคำถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คสช.จะนำร่างฉบับใดมาใช้

ขณะที่ผลโหวตคำถามพ่วงประชามติ 3 คำถามที่ ผู้เข้ามาแสดงความเห็นส่วนใหญ่ อยากให้ถามความคิดเห็นของประชาชน ได้แก่ 1) หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ 2) หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ต้องลาออกทั้งคณะ และ 3) ให้ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช.

ด้านนายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ "มัดมือ ปิดปาก ปิดตา และเป่าหู" ขณะที่มาตรา 62 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติเปิดช่องให้ให้เกิดการตีความอย่างกว้างขวาง และการวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกตีความให้เป็นความผิดตามมาตรานี้ ขณะที่การรณรงค์เปิดเวทีแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกจำกัด ตามที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยพูดว่า ต้องจัดในพื้นที่ของ กกต.เท่านั้น และการไม่ระบุว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดอะไรขึ้น เสมือนเป็นการบังคับให้ประชาชนต้องออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ

นายปูนเทพยังตั้งคำถามด้วยว่า ความพยายามของฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้กลับเข้าสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว และเปลี่ยนผ่านอย่างสงบนั้น จะนำไปสู่ระบอบที่ปกติจริงหรือไม่ เนื่องจากจะมีการแปลงสภาพที่อยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายประเด็น

"ถ้าไม่ยอมปรับและเปิดพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มัดมือ ปิดปากให้ประชาชนไปลงประชามติ" นายปูนเทพกล่าวพร้อมกับอธิบายถึงหลักการประชามติตามหลักสากลว่า รัฐต้องเป็นกลางในการให้ข้อมูล เช่น  เอกสารที่ให้ประชาชนต้องมีข้อมูลทั้งของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคำถามในการทำประชามติต้องชัดเจนและไม่ชี้นำคำตอบ

นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า การรณรงค์แสดงความเห็นต่อการออกเสียงประชามติครั้งนี้ อยู่ในบรรยากาศที่ถูกคุมด้วยกฎหมายถึง 4 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, กฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งกลไกต่างๆที่ควบคุมอยู่นี้ทำให้เกิดการโอนเอียงไปยังการออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า ทั้งที่การออกเสียงประชามติควรจะเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม

นายรังสิมันต์เรียกร้องให้มีการรับประกันสิทธิในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งยุติการกดดัน คุกคามสื่อมวลชนและประชาชน

"เราต้องการให้มีการดีเบตระหว่างฝ่ายที่รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยใหม่พร้อมร่วมเวที" นายรังสิมันต์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง