น้ำหลายหมื่นลิตรต่อวันถูกส่งมาเติมในแหล่งธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้าง ที่กินน้ำมากถึงร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวต่อวัน
กมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการเติมน้ำในแหล่งน้ำกลางป่าที่แห้งขอด เพื่อให้ช้างได้ลงมากิน เนื่องจากว่าไม่ต้องการให้ช้างออกไปสู่ภายนอกและกระทบกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าและอุทยานอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาไม่ต่างกันหลังภัยแล้งขยายวงกว้าง โดยมาตรการระยะสั้นมีทั้งหาแหล่งน้ำเพิ่ม สร้างบ่อน้ำตามจุดที่สัตว์ป่าหากิน รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังสถานการณ์
เตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่าแนวทางที่ใช้สามารถลดผลกระทบภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง ขณะที่สัตว์ป่าเองก็สามารถปรับตัวได้เช่นกัน
"จากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน คาดว่าสัตว์น่าจะอยู่รอดได้ คงไม่ถึงกับล้มตายเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามข่าวที่มีสัตว์ล้มตายบ้างเป็นลักษณะของการคัดเลือกตามธรรมชาติมากกว่า" ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าว
แต่หากภัยแล้งยืดเยื้อข้ามปีหรือเกิดขึ้นซ้ำซาก มาตรการเดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ซึ่ง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า หากภัยแล้งเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3-4 ปีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่กับสัตว์ป่า ซึ่งทางกรมอุทยานฯได้พยายามปรับปรุงแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่
ขณะนี้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ต่างแจ้งขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาดหมื่นลิตร โดยเฉพาะในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เสนอแผนสร้างแหล่งน้ำขนาดกลางหรือฝายกั้นลำห้วย เพื่อจัดหาแหล่งอาหารและน้ำให้กับสัตว์ป่าตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว