เกาะจาลาย อยู่ห่างจากเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ประมาณ 25 กิโลเมตร แม่น้ำโขงช่วงนี้เป็นทางผ่านของปลาที่ว่ายทวนน้ำมาจากโตนเลสาบและแม่น้ำโขงตอนล่างเพื่อขึ้นมาวางไข่ยังแม่น้ำโขงตอนบนและแม่น้ำสาขา ซึ่งรวมทั้งแม่น้ำเซกอง เซปรก และเซซาน ที่รวมเรียกว่า "ลุ่มน้ำสามเซ"
"40-50 เปอร์เซ็นต์ ของปลาที่ขึ้นมาวางไข่จะว่ายเข้าไปที่แม่น้ำเซกอง" เมียช เมียน อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำสามเซ (3SPN) อธิบายเส้นทางที่ปลาอพยพเข้าไปสู่แม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำโขงกับลุ่มน้ำสามเซ เมียช เมียน กล่าวว่า เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 50 ได้สร้างผลกระทบต่อการขึ้นไปวางไข่ของปลา เนื่องจากเขื่อนได้กั้นแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำเซซาน และแม่น้ำเซปรก ทำให้ปลาว่ายขึ้นมาด้านบนไม่ได้
"ปลาที่แม่น้ำเซซานมีกว่า 200 สายพันธุ์ เซปรก 300 กว่าพันธุ์ ส่วนมากเป็นปลาอพยพมาวางไข่ และปลาท้องถิ่น เช่น ปลาวา ปลาสะอี เป็นที่วางไข่ของปลาสะอี ตรงที่สร้างเขื่อน พอมีเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ปลาท้องถิ่นเหล่านี้จะหายไป" เมียช เมียนคาดการณ์
บัว ผัน ชาวประมงเกาะจาลาย เล่าให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสซึ่งเดินทางไปที่นั่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปลาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้ หลังจากที่ทางการกัมพูชาเริ่มก่อสร้างเขื่อนได้ 2 ปี
"ปกติปลาจะชุกชุมในเดือน 3-5 และในช่วงเดือนสาม แต่หลังจากสร้างเขื่อน น้ำตื้นลงและปลาก็น้อยลง" เขาเล่าให้ทีมข่าวฟังเป็นภาษาลาว เนื่องจากผู้คนในแถบนี้มีเชื้อสายลาวและสตึงเตรงก็เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับลาวตอนใต้
บัว ผัน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าก่อนที่จะมีเขื่อน ปลาที่ว่ายกลับลงมาจะไม่มีไข่ แต่เมื่อสร้างเขื่อนแล้วปลาหลายตัวที่จับได้เป็นปลาที่มีไข่เต็มท้อง ซึ่งกรณีนี้เมียช เมียนสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะปลาที่ว่ายอพยพขึ้นไปไม่สามารถไปถึงจุดที่วางไข่ได้เพราะถูกเขื่อนกั้น
เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เป็นหนึ่งในแผนการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสามเซ และเป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาขาแม่น้ำโขงในกัมพูชา มีกำลังผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ สันเขื่อนสูงจากระดับน้ำ 43 เมตร ตั้งอยู่ใต้จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเซซานและเซปรก รัฐบาลกัมพูชาสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2560 โดยมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 336 ตารางกิโลเมตร
จากรายงานการศึกษา "ทางเลือก : ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และเขื่อนพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง" ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2555 ชี้ว่าเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 จะส่งผลให้จำนวนปลาในลุ่มน้ำสามเซลดลงไปร้อยละ 9.3
ผลการศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำต่อประชากรปลาสอดคล้องกับข้อมูลของนายชวลิต วิทยานนท์ นักวิจัยอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อดีตผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ประจำโครงงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) ที่ระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 จะกระทบต่อประชากรปลาที่อพยพไปวางไข่ที่ต้นน้ำที่มีสภาพเป็นเกาะแก่งทำให้เป็นแหล่งน้ำไหล แต่เมื่อมีเขื่อนน้ำในแม่น้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งน้ำนิ่ง เพราะฉะนั้นปลาบางชนิดก็จะหายไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลาบอกว่ายากที่จะระบุว่าปลาที่จะได้รับกระทบจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 มีกี่ชนิดและชนิดไหนบ้าง เพราะข้อมูลจากการสำรวจพันธุ์ปลาในบริเวณนี้มีอยู่น้อยมาก
"โดยทั่วไปในช่วง 3-5 ปีแรกหลังจากเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำ ปริมาณปลาที่จับได้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำจะเพิ่มขึ้น แต่พอผ่านไป จำนวนปลาจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นน้ำนิ่ง ทำให้ปลาบางชนิดที่ต้องอยู่ในน้ำไหลค่อยๆ หมดไป ส่วนปลาที่ปรับตัวได้ในน้ำนิ่งก็จะขยายพันธุ์มากขึ้น แต่ในระยะยาวระบบนิเวศในอ่างเก็บน้ำจะมีชนิดของปลาน้อยลง และปริมาณปลาที่จับได้จะน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่จะน้อยลงไปแค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดการ ถ้าจับโดยไม่ควบคุม ปลาก็จะหมดในเวลารวดเร็ว" นายชวลิตกล่าว
เขื่อนอินโดจีน ผลกระทบข้ามแดนลุ่มน้ำสามเซ
แม่น้ำเซซานไม่เพียงถูกคุกคามจากเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ที่กำลังก่อสร้าง เหนือขึ้นไปทางต้นน้ำส่วนที่อยู่ในประเทศเวียดนามยังมีเขื่อนขนาดใหญ่ชื่อ "เขื่อนน้ำตกยาลี" และอีก 3 เขื่อนที่กั้นแม่น้ำสายนี้
ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปยังหมู่บ้านโลมแลง ริมแม่น้ำเซซานใน จ.รัตนะคีรี ห่างจากชายแดนเวียดนาม 15 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เคยพบกับภัยพิบัติจากเขื่อนน้ำตกยาลีแตกเมื่อปี 2539 กระแสน้ำที่พัดมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 37 คน วัว ควายล้มตาย ไร่นาเสียหายจำนวนมาก
กลัน ที ชาวบ้านโลมแลง ที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น บอกว่าทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยความเสียหายจากเขื่อนแตกในครั้งนั้น และชาวบ้านต้องอยู่กับแม่น้ำที่หาปลาไม่ได้เหมือนเดิมและการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติ คือ เฉลี่ย 1 เมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกริมแม่น้ำได้
"ก่อนมีเขื่อนน้ำตกยาลี ชาวบ้านทำอาชีพหาปลาเยอะ ทั้งเด็ก ผู้หญิง ใครๆ ก็หาปลาได้หมด แม่น้ำแถวนี้มีที่วางไข่ น้ำลึก มีโขดหิน แต่เดี๋ยวนี้น้ำลึกก็กลายเป็นตื้น คุณภาพน้ำไม่ดี ปลาก็น้อยลง"
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าลุ่มน้ำสามเซ ที่กินพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ยังได้รับผลกระทบข้ามแดนจากเขื่อนในเวียดนาม ไม่ต่างจากแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติในภูมิภาคอินโดจีนที่เกิดขึ้นจากการเปิดปิดเขื่อนของจีน
เขื่อนปากมูล ภาพอนาคตลุ่มน้ำสามเซ ?
24 ปี 17 รัฐบาล คือ ระยะเวลาที่ชาวบ้านปากมูลทวงถามการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลจากรัฐบาลไทย
เขื่อนปากมูลตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ห่างจากปากแม่น้ำมูลที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง 6 กิโลเมตร ข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล คือ เปิดประตูเขื่อนถาวรเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ สถานการณ์ที่เกิดกับชาวบ้านปากมูลและชุมชุนริมแม่น้ำมูลอาจเป็นภาพอนาคตของชาวลุ่มน้ำสามเซที่กัมพูชา
กฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ฉายภาพชะตากรรมจากการพัฒนาของชาวปากมูลตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ว่า ชาวปากมูลซึ่งส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำประมง ต้องสูญเสียอาชีพจากการลดลงของจำนวนและพันธุ์ปลา สถิติการจับปลาต่อครอบครัวที่เป็นตัวชี้วัดรายได้ขึ้นอยู่กับการเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาอพยพขึ้นมาวางไข่ ระยะเวลาเปิดเขื่อนจึงสัมพันธ์กับรายได้ที่ชาวบ้านจะได้จากการจับปลาได้มากขึ้น
"ถ้าช่วงไหนเปิดประตูเขื่อนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม รายได้เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 700-800 บาทต่อเดือน แต่ถ้าปีไหนเปิดประตูเขื่อนช้าคือราวเดือนสิงหาคม รายได้เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 80-90 บาทต่อเดือน" กฤษกรกล่าว
กฤษกรกล่าวอีกว่า เขื่อนทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลลดลง ขนาดของปลาที่จับได้ไม่ใช่ปลาขนาดใหญ่เหมือนเมื่อก่อน
"ปลาที่จับได้มีแค่ไม่กี่ชนิดและตัวเล็กลง เมื่อก่อนชาวบ้านเคยจับปลาขนาด 25 กก.ได้ซึ่งถือว่าเป็นปลาขนาดกลาง ทุกวันนี้จับได้ปลาหนัก 8 กก.ก็ถือว่าตัวใหญ่มากแล้ว ปัจจุบันปลาที่จับได้มีน้ำหนักเฉลี่ยแค่ 9 ขีดเท่านั้น"
ส่วนการอพย้ายถิ่น กฤษกรกล่าวว่า การอพยพในตอนแรกมีครัวเรือนถูกย้ายถิ่นกว่า 700-800 ครอบครัว พื้นที่รองรับจัดสรรไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ชาวบ้านที่เป็นชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพมาทำเกษตร ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวได้ ชาวบ้านกลุ่มนี้จะต้องย้ายออกจากพื้นที่และเปลี่ยนอาชีพ ขณะเดียวกันชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ในที่ทำกิน เนื่องจากเอกสารสิทธิ์เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนมือไปยังรุ่นลูกหลานด้วย
แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียจากการทำประมงให้ชาวบ้านกว่า 5,800 คนแต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ละครอบครัวก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนประชากรที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงขึ้นกว่า 13,000 คนแล้ว
กฤษกร ซึ่งเคยเดินทางไปดูพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 มาแล้ว ประเมินว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลุ่มน้ำสามเซน่าจะรุนแรงกว่าที่ปากมูลมาก เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำสามเซมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งเกาะแก่งที่เป็นแหล่งวางไข่ของปลา มีระบบนิเวศที่หลากหลาย และยังมีการตัดไม้ออกจากพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อน
แต่ดูเหมือนว่าทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เมื่อการก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 50 และอีกไม่ถึง 1 ปีก็จะเริ่มกักเก็บน้ำ เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 และอีกหลายเขื่อนที่อยู่ในแผนของรัฐบาลกัมพูชากำลังทำให้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำเซซาน รวมทั้งในลุ่มน้ำสามเซไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน
หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 6 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams