ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลสำรวจพบหญิงเกินครึ่งเคยถูก “ลวนลาม-ฉวยโอกาส” วันสงกรานต์

สังคม
5 เม.ย. 59
16:42
412
Logo Thai PBS
ผลสำรวจพบหญิงเกินครึ่งเคยถูก “ลวนลาม-ฉวยโอกาส” วันสงกรานต์
ผลสำรวจพบหญิงเกินครึ่งเคยถูก "ลวนลาม-ฉวยโอกาส" วันสงกรานต์ พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้นเหตุของการลวนลามส่วนใหญ่ เผยบางส่วนมองเป็นเรื่องปกติ-ยอมรับได้ ภาคประชาสังคมเสนอให้รัฐบาลคุมเข้มและเพิ่มจุดเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย

วันนี้ ( 5 เม.ย. 2559 ) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นความปลอดภัยในเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด“แฮปปี้สงกรานต์..ไม่มีเหล้า ไม่ลวนลาม ไม่รุนแรง” ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ โดยภายในงานมีการร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์“แฮปปี้สงกรานต์” เพื่อสะท้อน การเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ ทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 คน อายุระหว่าง 10-40 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ เชียงใหม่ ลำปางอำนาจเจริญ ชุมพร ชลบุรี ขอนแก่น พบร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามแต๊ะอั๋งช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน แต่ที่น่าห่วง คือ ร้อยละ 14 ยังมองเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้ ใครๆก็ทำกัน นอกจากนี้ยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ ร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลาม เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอ คือ ถูกฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่ม ปัญหาการทะเลาะวิวาท การเล่นน้ำเกินขอบเขต เกิดอุบัติเหตุ

 

นางสาวจรีย์ กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่า สิ่งที่จะทำเมื่อถูกลวนลามหรือคุกคามทางเพศ คือ ตะโกนให้คนช่วย บอกผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ เข้าแจ้งความ ด่าทอผู้กระทำ โต้ตอบด้วยความรุนแรง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.9 ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำ คือ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน อีกทั้งต้องการให้มีหน่วยงานรับแจ้งความในพื้นที่เล่นน้ำและจัดพื้นที่เล่นน้ำอย่างปลอดภัย และเมื่อถามถึงการรับรู้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ส่วนใหญ่รู้ว่ามีกฎหมาย เช่นการห้ามดื่มบนรถ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่เรื่องที่ยังรู้น้อยอยู่คือกฎหมายห้ามขายเร่ การขายให้คนเมาครองสติไม่ได้

 

 

อย่างไรก็ตาม สังคมต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการเล่นน้ำอย่างสนุกสนานด้วยการสร้างสรรค์ อย่างเอาค่านิยมผิดๆ มาเปลี่ยนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่าผู้หญิงรับไม่ได้ หากมีการลวนลาม การฉวยโอกาสจากเรื่องแบบนี้ ดังนั้นจึงควรเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเร่งรณรงค์ให้สังคมตระหนักในประเด็นการให้เกียรติกัน

นางสาวปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่าประเพณีสงกรานต์กลายเป็นพื้นที่สร้างค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งถูกสร้างจากประเพณีการเล่นน้ำอย่างไม่มีขอบเขต ไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคล ผู้หญิงกลายเป็นตัวแทนความสนุกสนานคู่ไปกับการเล่นน้ำจากสถิติ ร้อยละ14.1 มีผู้ยอมรับว่าการฉวยโอกาส ลวนลาม การแต๊ะอั๋ง เป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้ใครๆ ก็ทำกัน ซึ่งการยอมนี้จะเป็นชนวนสู่การล่วงละเมิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น แม้ผู้หญิงที่แต่งตัวมิดชิดหรือเด็กผู้หญิงก็ถูกลวนลามได้เช่นกัน

 

 

"พื้นที่สงกรานต์กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยเสี่ยงและมีความรุนแรงทุกครั้งที่มีการจัดงาน ยิ่งมีค่านิยมดื่มแอลกอฮอล์สิ่งที่จะตามมาคือ การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ เพราะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดความรุนแรง การล่วงละเมิดต่อผู้หญิงและเด็ก ดังนั้นไม่เพียงแต่ทำลายประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม แต่ยังกลายสร้างพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ควรกำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย สร้างสรรค์ ให้เกียรติ ไม่ใช้อุปกรณ์ที่แรงดันน้ำสูง มีศูนย์ให้บริการช่วยเหลือและเฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดมาตรการพื้นที่เล่นน้ำสาธารณะทุกจุด ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551และกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด” นางสาวปุณิกา กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง