ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรีนพีซสากลชี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินตัวการแย่งชิงน้ำจืดโลก-สร้างวิฤตภัยแล้ง

สิ่งแวดล้อม
24 มี.ค. 59
11:05
1,022
Logo Thai PBS
กรีนพีซสากลชี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินตัวการแย่งชิงน้ำจืดโลก-สร้างวิฤตภัยแล้ง
กรีนพีซสากลเผยผลศึกษาฉบับใหม่ ระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินคือหนึ่งปัจจัยแย่งชิงน้ำจืดโลก กระตุ้นให้เกิดภัยแล้งรุนแรง พบหลายประเทศเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ขณะที่ต้องใช้น้ำมากขึ้นถึงร้อยละ 90 แนะใช้พลังงานหมุนเวียนแทนก่อนสาย

วันนี้ (24 มี.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศฮ่องกง กรีนพีซสากลเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จำนวนหลายร้อยแห่งทั่วโลก อาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดภัยแล้งรุนแรง รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ในขณะที่น้ำจืดโลกที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องหาก

กรีนพีซสากล ระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาระดับโลกถึงความต้องการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ละแห่ง รวมถึงอุตสาหกรรมถ่านหิน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยพบว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำมักเป็นพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ และถ้าหากเร่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ จะยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมากที่สุด

โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า การใช้น้ำทั่วโลกเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ขณะที่การศึกษาของกรีนพีซพบว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านแห่งใหม่ทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น ทำให้ความต้องการการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 สร้างวิกฤตด้านการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด 8,359 แห่ง ใช้น้ำในปริมาณเท่ากับความต้องการใช้น้ำในระดับพื้นฐานของคนมากกว่า 1,000 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ มีแผนการสร้างในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดหรือพื้นที่บัญชีแดง เนื่องจากทรัพยากรน้ำในในพื้นที่นั้น ๆ ถูกนำมาใช้เร็วกว่าการทดแทนน้ำตามธรรมชาติ

ซึ่งประเทศที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในพื้นที่บัญชีแดงในอันดับต้น ๆ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน 237 กิกะวัตต์ ประเทศอินเดีย 52 กิกะวัตต์ และประเทศตุรกี 7 กิกะวัตต์ เกือบครึ่งหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีน อยู่ในพื้นที่บัญชีแดง ในอินเดียและตุรกีมีพื้นที่ร้อยละ 13 ที่อยู่ในพื้นที่บัญชีแดง

“หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ถูกสร้างขึ้นตามแผน การใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า พลังงานจากถ่านหินจึงไม่เพียงปล่อยมลพิษทางอากาศและเป็นตัวเร่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินยังแย่งชิงน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของเรา” แฮร์รี ลัมมี นักรณรงค์อาวุโสด้านถ่านหินโลก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าว

ขณะที่ ไอริส เช็ง ผู้เขียนรายงานของกรีนพีซสากล กล่าวว่า รัฐบาลต้องรับรู้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากถ่านหิน ไม่เพียงแต่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยประหยัดน้ำในปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมุ่งสู่อนาคตพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กรีนพีซสากลได้เสนอนโยบายหลัก 3 ประการ เพื่อกู้วิกฤตการใช้น้ำของอุตสาหกรรมถ่านหิน ดังนี้

1.ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่เผชิญกับวิกฤตน้ำโดยทันที และเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานที่พึ่งพาน้ำน้อยหรือไม่ใช้เลย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

2.แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์และลมในพื้นที่บัญชีแดง ซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงการใช้น้ำได้ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในจีน และ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในอินเดีย

และ 3.ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้งานมากกว่า 40 ปี เช่น สหรัฐฯ ประหยัดน้ำได้ถึง 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุการใช้งานยาวนาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง