วันนี้ (18 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ปลูกมะละกอ บ้านน้ำโท้ง ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร นำกระสอบปุ๋ยมาคลุมต้นมะละกอ เพื่อป้องกันแสงแดด หลังภัยแล้งที่ขยายวงทำให้ต้นมะละกอที่ปลูกทดแทนการทำนา เริ่มมีอาการใบเหลืองและแห้งเหี่ยว ผลไม่ได้ขนาด จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งขุดเจาะบ่อน้ำช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับชาวบ้าน ต.ยางขาว อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ ที่ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำมาช่วยเหลือ หลังยังขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค ขณะที่น้ำประปาหมู่บ้านไหลเพียง 3-4 วันต่อครั้ง น้ำที่กักเก็บไว้ในภาชนะถูกใช้ไปจนหมดแล้ว
ไม่ต่างกับชาวบ้าน ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เรียกร้องให้อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงปล่อยน้ำช่วยเหลือชาวบ้าน 100,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำมาผลิตประปา หลังหนองบึงมออยู่ระหว่างขุดลอก แม้จะช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้อน้ำและใช้บ่อบาดาลที่มีอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ
ขณะที่การช่วยเหลือในส่วนของภาครัฐ ยังคงเร่งให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู เร่งนำรถบรรทุกน้ำออกไปช่วยเหลือชาวบ้านใน อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่นเดียวกับทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนานำรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร ออกแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ที่กำลังขาดแคลนน้ำกว่า 120 ครัวเรือน
ส่วนชาวนาใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำบางปะกง ที่กำลังประสบปัญหาน้ำเค็ม ต้องจำใจสูบน้ำเค็มเข้าแปลงนา เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 2 สัปดาห์ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำจืดเหลืออยู่ในพื้นที่
ตรงข้ามกับชาวนาใน ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่ปรับเปลี่ยนที่นาบางส่วนขุดบ่อปลาเลี้ยง โดยใช้น้ำบาดาลมาใช้เลี้ยงแทนนำจืดที่หาไม่ได้ในพื้นที่ จากนั้นนำน้ำจากบ่อปลา ไปใช้รดต้นพืชอีกทอด ซึ่งทำให้พอรายได้เลี้ยงครอบครัววันละ 200-500 บาท
ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ประชุมวิเคราะห์สภาพอากาศ ก่อนนำเครื่องบินขึ้นทำฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ หลังฝนทิ้งช่วง ทำให้สภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค