วันนี้ (15 มี.ค.) จิราพร คำภาพันธุ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า น้ำในคลองไม่เหลือที่คนสามารถใช้ได้แล้วเป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ขณะที่วัวของชาวบ้านกว่า 200 ตัวต้องลงไปพึ่งน้ำก้นคลองที่เหลืออยู่เป็นหย่อมๆ เพื่อแก้กระหาย ประทังชีวิตท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ เพราะคนเลี้ยงก็ไม่มีแหล่งน้ำอื่นให้กิน ประกอบกับอาหารน้อยลงทำให้วัวมีสภาพร่างกายซูบผอมอย่างเห็นได้ชัด
ที่จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่ชลประทาน เตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปา ในต.สีมุม อ.เมืองนครราชสีมา หลังแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปา เหลือเพียง 15 วัน โดยจะนำน้ำจากบ่อที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 2 กิโลเมตรมาใช้
ส่วนที่จ.หนองคาย เดินเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำโขง เข้าสู่ลำน้ำห้วยหลวง บริเวณบ้านดอนคง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 พ.ค. เพื่อส่งน้ำให้ภาคการเกษตรกว่า 13,000 ไร่ และสำหรับอุปโภคบริโภค ในจ.หนองคายและอุดรธานี
จ.พะเยา มีการเดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด หลังกว๊านพะเยา แหล่งผลิตน้ำประปา เข้าสู่วิกฤติหนัก เนื่องจากขณะนี้ เหลือปริมาณน้ำเพียง 13 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตน้ำประปาได้อีกเพียง 70 วันเท่านั้น
ที่ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วะ และอุทยานแห่งชาติแม่วะ ต้องนำรถบรรทุกน้ำจากแม่น้ำวัง ไปส่งตามจุดบริการน้ำประปาหมู่บ้านกว่า 10 จุด วันละ 6-7 เที่ยว โดยจ่ายน้ำแบบเป็นเวลา ทั้งนี้ มีผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกอบต.เป็นผู้ควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ
ด้านจ.อ่างทอง ชาวนาหมู่ 2 และ 3 ต.ไชโย อ.ไชโย กว่า 40 ครอบครัว รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม “เกษตรกรปลูกพืชน้ำหยด” เพื่อปลูกแตงกวา มะระ ถั่วฝักยาว พื้นที่กว่า 40 ไร่ ทำให้แต่ละครอบครัวมีรายได้เกือบปีละ 1 แสนบาท
จ.พังงา ประชาชนได้รับผลกระทบทั้ง 8 อำเภอ เบื้องต้นจังหวัดได้ประสานชลประทาน ประปาภูมิภาค เข้าช่วยเหลือ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เครื่องจักรเข้าขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำ
จ.สตูล นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เรียกประชุมนายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยแล้งแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดตั้งโซนนิ่ง เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง