การปรับรูปแบบการฉายหนังกลางแปลงทั่วไปมาอยู่ในระบบ Media Saver ที่เจ้าของภาพยนตร์และเจ้าของหนังกลางแปลงสามารถควบคุมการฉายโดยผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้ไฟล์ภาพยนตร์ที่อยู่ในระบบ Media Saver นั้นไม่สามารถก็อปปี้ได้ ไม่ต่างจากระบบ DCP ในโรงภาพยนตร์ใหญ่ที่ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ นี่คือจุดเด่นของบริษัทหนังกลางแปลง "มาสเตอร์ พิกเจอร์" ของ "นิมิตร สัตยากุล" ที่ปัจจุบันกลายเป็นทางเลือกสำหรับฉายหนังของผู้สร้างหนังหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากระบบโรงภาพยนตร์ ทั้งการถูกถอดหรือลดรอบฉาย เช่น "สมิง พรานล่าพราน" ที่แม้จะยืนโรงฉายไม่นานและทำรายได้ไม่มากนัก หากการออกฉายหนังกลางแปลงกลับเก็บรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าหนังสายลับฮอลลีวูดอย่าง "007"
ไม่เพียงแต่ปัญหาการลดรอบฉายจากโรงหนัง แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ยังผชิญกับปัญหาจากระบบสายหนังอีกด้วย เช่น วานรคู่ฟัดที่ถูกลดรอบฉายจนทำรายได้เพียง 300,000 บาท ซึ่งต้องตัดใจขายสิทธิ์ให้กับสายหนังโดยไม่มีทางเลือกในราคาเพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งคิดจากร้อยละ 10 ของรายได้ที่ทำในบ็อกออฟฟิศ หากการที่สายหนังซื้อภาพยนตร์ไปฉายในโรงต่างจังหวัดและยังแบ่งรายได้ร่วมกับโรงภาพยนตร์อีกครั้ง รวมถึงสามารถทำเงินจากการได้สิทธิ์ฉายหนังกลางแปลงนานถึง 2 ปี ทั้งที่ไม่ได้ระบุในสัญญาซื้อขาย ในความเห็นของผู้สร้างอย่าง นนทกร ทวีสุข มองว่าระบบนี้อาจเป็นการผูกขาดที่ไม่ยุติธรรม จึงตั้งใจว่าภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ซึ่งทำร่วมกับต่างประเทศจะไม่เข้าโรงฉายและไม่ขายสายหนัง หากจะขายสิทธิ์โดยตรงให้กับเจ้าของหนังกลางแปลง เพื่อตัดระบบการผูกขาดจากคนกลาง
มีอีกหลายวิธีที่คนทำหนังเลือกใช้เป็นทางออกกับปัญหาจากโรงฉายและสายหนัง เช่น การเลือกทำหนังออกจำหน่ายในรูปแบบโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ หรือลงระบบออนไลน์และสตรีมมิ่ง ที่ผู้สร้างสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง การหาทางแก้ปัญหาเรื่องระบบการฉายหนังที่กระทบผู้สร้างชาวไทยและ Distributor รายย่อย อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในระยะเวลาอันสั้น หากสิ่งที่น่าจับตาตอนนี้คือความพยายามของคนวงการหนังจำนวนมากเริ่มออกมาเคลื่อนไหว และสะท้อนปัญหาผ่านสื่อต่างๆ โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น