วันนี้ (10 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 โดยนายวิษณุชี้แจงถึงเหตุผลและเจตนารมณ์ในการแก้ไขในมาตรา 39/1 เพื่อรองรับการดำเนินการออกเสียงประชามติ ให้มีความเหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการนับคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งจะเป็นประเด็นในการชี้ผลของการทำประชามติ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีเสียงเห็นชอบ 12 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง และงดออกเสียง 8 ล้านเสียง
สำหรับสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในทั้ง 4 มาตรามีการแก้ไขไว้ที่ 5 ประเด็น คือกำหนดไว้ว่าเมื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาปรับปรุงแก้ไขจนได้ร่างฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ และส่งให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายเผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยสะดวก ซึ่งจากเดิมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ว่าต้องแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนผู้มีสิทธิ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันออกเสียงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ขณะที่คำถามพ่วง เดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้ สปช.และ สนช.สามารถเสนอคำถามได้สภาละ 1 คำถาม แต่ร่างฉบับแก้ไขครั้งนี้ กำหนดให้เฉพาะ สนช.จะมีมติเสนอคำถามพ่วงได้ไม่เกิน 1 คำถาม โดยส่งคำถามให้กับ กกต.เพื่อออกเสียงประชามติไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ
โดย กกต.ต้องประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 120 วัน ถัดจากวันที่ กรธ.ส่งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. และสุดท้าย เกณฑ์เสียงผ่านประชามติ จากเดิมที่ กำหนดไว้เป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ แก้ไขเป็น ยึด "คะแนน" เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ
ทั้งนี้ ยังกำหนดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติด้วยเสียงข้างมากแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ โดย กรธ.ต้องปรับปรุงคำปรารภให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับผลประชามติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาของ สนช.วันนี้ จะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด ส่วนคำถามพ่วง 1 คำถามนั้น สนช.จะรอพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อน