ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

92 หน่วยเร่งเจาะบาดาล 4,000 บ่อให้เสร็จในเม.ย. มท.สั่งผจว.รับมือวิกฤตแล้ง

ภัยพิบัติ
7 มี.ค. 59
14:05
205
Logo Thai PBS
92 หน่วยเร่งเจาะบาดาล 4,000 บ่อให้เสร็จในเม.ย. มท.สั่งผจว.รับมือวิกฤตแล้ง
โฆษกรัฐบาลเผยปฏิบัติการฝนหลวงเริ่มเห็นผล มีฝนตกหลายจุด แต่ยังมีปริมาณน้อยเพราะสภาพอากาศ ส่วนมาตรการขุดเจาะบ่อบาดาลคืบ เร่งเดินหน้าให้ครบ 4,000 บ่อภายใน เม.ย.นี้ ด้าน มท.1 สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ รับมือภัยแล้ง วอนประชาชนเชื่อมั่นมาตรการรัฐและประหยัดน้ำ

วันนี้ (7 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรพบว่า ตั้งแต่ 15 ก.พ.- 3 มี.ค. 59 มีวันฝนตกจากปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 12 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 55.6 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ล่าสุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และอ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ช่วยสร้างความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิได้ในระดับหนึ่ง

“ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 หน่วยทั่วประเทศ กำลังเร่งปฏิบัติการอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่า สภาพอากาศช่วงนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน โอกาสเกิดฝนตกจึงค่อนข้างน้อย เพราะอากาศต้องมีความชื้นเกิน 60 % และมีทิศทางลม การก่อตัวและขนาดของกลุ่มเมฆที่เอื้ออำนวยจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ติดตามประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในทุกชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง หากพบสภาพอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการทันที รวมทั้งจะมีการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 1 แห่งที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2559 เพื่อดูแลพื้นที่การเกษตรภาคใต้ตอนล่างที่ประสบปัญหาภัยแล้ง”

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับมาตรการขุดเจาะบ่อบาดาลของรัฐบาล ขณะนี้ได้ให้หน่วยขุดเจาะทั้ง 92 หน่วย เร่งดำเนินการโดยด่วน โดยขุดเจาะเสร็จไปแล้ว 2,192 บ่อ เป็นบ่อเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,104 บ่อ เพื่อการเกษตร 1,088 บ่อ และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องขุดให้ได้ 4,000 บ่อ ภายในเดือน เม.ย.นี้

“นายกฯ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากสภาพอากาศยังเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการ แต่ขอให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับหน่วยทหาร เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และภาคเอกชน เพื่อเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด”

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังบริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน ซึ่งในเขตชลประทานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนพื้นที่ภายนอกอยู่ภายใต้การกำกับดูของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมือการแก้ปัญหาภัยแล้งใน ทุกพื้นที่ผ่านผวจ. โดยให้ผวจ.รายงานปัญหาภัยแล้งในแต่ล่ะพื้นที่มายังส่วนกลาง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะบูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยละเอียด โดยต้องทราบว่า หากน้ำขาดแคลน จะสามารถหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากชลประทานอื่นได้อย่างไร ทั้งนี้ หากน้ำอุปโภค บริโภคหรือน้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน จนนำไปสู่การประกาศภาวะภัยพิบัติ รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะหากขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคจะให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เข้าไปช่วยเหลือ

ขณะนี้เราได้เตรียมการวางแผนไว้หมดแล้ว เพราะทราบดีว่า มีการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคบ้างก็ต้องช่วยกันแก้ไข ส่วนน้ำทางการเกษตรนั้นทาง กระทรวงเกษตรฯได้แจ้งให้ประชาชนรับทราบแล้วว่า พืชที่ใช้น้ำจำนวนมากอาจจะมีปัญหาในการเพาะปลูก เพราะน้ำไม่เพียงพอ หากเกษตรกรมีปัญหาเราจะพิจารณาในแต่ล่ะพื้นที่ว่าสามารถนำน้ำในเขื่อนใดไปช่วยในพื้นที่ใดได้บ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทผลิตน้ำดื่มเริ่มมีการกักตุนน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำดื่ม เพราะกลัวว่าน้ำจะไม่เพียงพอ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะถ้ามีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ ส่วนการประหยัดน้ำขอให้ประชาชนรับทราบว่าเมื่อมีปัญหาการขาดแคลนเกิดขึ้น ก็ต้องช่วยกันกินใช้น้ำอย่างประหยัด เช่น พื้นที่กทม. ที่ต้องรอน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการปล่อยน้ำลงมาไม่สม่ำเสมออาจต้องมีการปิดบ้าง เนื่องจากต้องดูภาพรวมน้ำทั้งหมด เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปในคลองขนาดเล็ก และเมื่อน้ำทะเลขึ้น หากปล่อยน้ำจืดไป น้ำดีก็จะไหลเข้าคลองขนาดเล็กหมด เราต้องปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าความเค็มในการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น ยืนยันทุกอย่างมีมาตรการขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ช่วยกันประหยัดน้ำ

รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ส่วนเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเม.ย.นั้น ขอให้ทุกคนช่วยกันตระหนัก เพราะสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว และทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้นคือต้องแก้ปัญหาให้ได้ ไม่มีสิทธิคิดอย่างอื่น ต้องคิดว่าน้ำที่มีจะช่วยกันอย่างไรให้ประชาชนไม่เดือดร้อน แต่ถ้าสุดท้ายเกิดความเสียหายก็ต้องไปเยียวยา เช่นด้านการเกษตร และต้องเตือนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำและรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไข อย่ามาถามตนว่ากังวลหรือไม่ เพราะไม่เกิดประโยชน์กับสังคม ไม่มีสิทธิกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง