วันนี้ (4 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินหาดราไวย์อย่างเป็นธรรมและจริงจัง โดยยกการแก้ไขปัญหาของชุมชนราไวย์เป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชนชาวเลที่อื่นๆ โดยมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เรื่องขอให้อำนวยความเป็นธรรมกับชาวเลชุมชนราไวย์
ขณะนี้ได้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างนายทุนที่ดินที่อ้างกรรมสิทธิ์บริเวณหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับชาวบ้านที่เป็นชาวเลขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ภายหลังจากที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม ได้มีชายฉกรรจ์นับร้อย รุมทำร้ายชาวบ้านเนื่องจากชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินที่เป็นเส้นทางสาธารณะใช้เดินไปสู่บาลัย(พื้นที่ศักดิ์สิทธิ) ซึ่งจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้แค่รับมอบตัวจากชายฉกรรจ์เพียง 6 คน ขณะนี้ความคืบหน้าของคดีกลับไม่คืบหน้า
เช่นเดียวกับเมื่อเช้าวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มชายฉกรรจ์และลูกจ้างของบริษัทบารอนก็ได้เดินทางมายังพื้นที่พิพาท ซึ่งเมื่อชาวเลมารวมตัวกันก็ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยอ้างว่าเอกสารสิทธิ์ของนายทุนได้มาอย่างถูกต้องทั้งๆที่ผืนดินบริเวณหาดราไวย์เกือบทั้งหมดในอดีตนั้น เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวเลซึ่งมีงานวิจัยและภาพถ่ายต่างๆยืนยันชัดเจน ดังนั้นเอกสารสิทธิต่างๆที่หลายคนอ้างถึงนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่บางแปลง ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ทำการตรวจสอบและพบว่าเป็นที่ดินของชาวเลที่อยู่มาก่อนที่จะมีการออกเอกสารสิทธิ และเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว แต่กรมที่ดินกลับยังไม่ดำเนินการใดๆ
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 3 กลุ่มนายทุนได้นำลูกจ้างและชายฉกรรจ์พร้อมอุปกรณ์ก่อสร้างลงไปยังพื้นที่พิพาทอีกครั้ง ทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้น ยังดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตห้ามไม่ให้มีการดำเนินการใดๆในยามวิกาล อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ และเสี่ยงต่อการปะทะกันอีกครั้งหนึ่ง
ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลภายใน 2 เดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับชาวเลในชุมชนราไวย์นั้น เป็นเรื่องของการที่คนเล็กคนน้อยถูกคุกคาม ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ควรมีการดำเนินการกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ด้วย
ชาวเลเป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ควรได้รับการคุ้มครองดูแลเช่นเดียวกับประชาชนทั่วๆไป พวกเขาอาศัยอยู่ในทะเลอันดามันมานานไม่น้อยกว่า 300 ปี โดยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและไม่คิดสะสมทรัพย์สินใดๆ จนกระทั่งเกิดการเบียดขับจากนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง ทำให้ชาวบ้านดั้งเดิมต้องเผชิญชะตากรรมอันยากลำบาก โดยเฉพาะการถูกหลอกลวงให้ขายที่ดินก่อนที่ราคาพุ่งสูงลิ่ว ทำให้ขณะนี้ชาวเลไม่น้อยกว่า 40 ชุมชนต้องประสบปัญหาทั้งถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย พื้นที่ศักดิ์สิทธิถูกบุกรุก แม้แต่สุสานที่ฝังศพบรรพบุรุษก็ถูกรีสอร์ทสร้างทับซ้อน โดยไม่สนใจความรู้สึกของชาวเล
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเลในชุมชนหาดราไวย์ จึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นขึ้นมาให้เห็น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยทำให้การแก้ปัญหาของชุมชนราไวย์เป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชนชาวเลที่อื่นๆ ทั้งเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน การเปิดช่องให้ชาวเลได้ออกทะเลหากินในพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยอยู่มา รวมไปถึงการจัดการให้มีเขตวัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553