ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรธ.เตรียมหารือข้อเสนอให้ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มาจากการสรรหา

การเมือง
1 มี.ค. 59
20:33
109
Logo Thai PBS
กรธ.เตรียมหารือข้อเสนอให้ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มาจากการสรรหา
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเตรียมหารือถึงข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มาจากการสรรหา ขณะที่ ครม.- คสช.เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นเกณฑ์ผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (1 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบหลักการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เรื่องเกณฑ์เสียงผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้เป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 จะยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้ไปออกเสียงประชามติ ซึ่งจะไม่นับรวมบัตรเสีย และโนโหวต โดยยกตัวอย่างการคำนวณที่จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์ 30 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ 50 ล้านคน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะมีอีก 4 ประเด็น คือการกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ในวันลงประชามติ, การแก้ไขวิธีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญด้วยช่องทางอื่นๆ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ รวมถึงการแก้ไขให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถส่งคำถามเพิ่มเติมเพื่อทำประชามติได้ โดยส่งให้ กกต.โดยตรง จากเดิมที่ให้ สภาปฎิรูปแห่งชาติ และ สนช.ส่งคำถามได้สภาละ 1 คำถาม โดยให้ ครม.เป็นผู้เลือก ประเด็นสุดท้าย คือหลักเกณฑ์การรณรงค์ออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ซึ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ที่ประชุมวันนี้ยังไม่ได้มีการหารือกัน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มาจากการสรรหาว่า กรธ.จะหารืออีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 2 สัปดาห์ แต่การที่ กรธ.บัญญัติให้ ส.ว.มาจากการเลือกกันเองโดยวิธีไขว้ จาก 20 กลุ่มอาชีพ พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว พร้อมไม่กังวลว่าข้อเสนอนี้จะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เพราะในทางกลับกัน อาจเป็นข้อดี ทำให้ประชาชนสนับสนุนวิธีการที่ กรธ.เสนอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง