วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ชาวบ้านตำบลพระทองคำ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา นำภาชนะบรรจุน้ำ ที่เทศบาลตำบลพระทองคำได้ตั้งจุดสูบน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหา หลังมีประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค กว่า5,000 ครัวเรือน เช่นเดียวกับต.สุขสวัสดิ์ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกว่า 1,000 ครอบครัว เนื่องจากไม่มีระบบผลิตประปาในพื้นที่ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล เร่งก่อสร้างระบบผลิตประปา 3 แห่ง ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท
ขณะที่ชาวบ้านพลับ ต.สะแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 ครอบครัว ต้องอพยพไปทำงานรับจ้างตัดอ้อย และก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ หลังภัยแล้งรุนแรงจนไม่สามารถประกอบอาชีพในพื้นที่ได้ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสำรวจก่อสร้างเขื่อน หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ตลอดทั้งปี
ส่วนชาวนาต.ชุมตาบง อ.ชุมตาบง อ.เมืองนครสวรรค์ ปลูกมะระเป็นรายได้เสริมหลังจากประสบภัยแล้ง เพราะเป็นพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย ปลูกเพียง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่งขายสร้างรายได้วันละ 500-600 บาท
ส่วนที่จ.พิจิตร ชาวนาตำบลโพทะเล อ.โพทะเล รวมกลุ่มออกรับจ้างเก็บถั่ว หารายได้เลี้ยงครอบครัวโดยคิดค่าจ้างกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งพอสำหรับใช้จ่ายประจำวันเท่านั้น ขณะที่ยังติดค้างหนี้สินจากการทำนาอีกจำนวนมาก เร่งซ่อมระบบสูบน้ำประปา จ.ตรัง
ด้านภาคใต้ เจ้าหน้าที่การประปาส่วนภูมิภาค อ.กันตัง จ.ตรัง เร่งซ่อมแซมและเปลี่ยนมาตรวัดน้ำหลัก ของสถานีสูบน้ำแรงสูง การประปาส่วนภูมิภาค สาขากันตัง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง แต่ละวันน้ำไหลเข้าสู่ระบบน้อยกว่าปกติ จึงต้องเปลี่ยนมาตรวัดน้ำให้ใหญ่ขึ้น เพื่อลำเลียงน้ำดิบจากคลองท่าจีน เข้าสู่ระบบของสถานี ก่อนผลิตประปาส่งให้ประชาชน
ด้านสวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง พบว่า ส่วนใหญ่กังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และพร้อมให้ความร่วมมือประหยัดน้ำมากขึ้น ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างวิตกกังวล เพราะปริมาณฝนตกเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่น้อยลง ฝนทิ้งช่วง กลัวไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ หลายพื้นที่ต้องแย่งน้ำ ขณะที่บางส่วนรู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลง ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหา ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่ค่อยวิตก เพราะเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล มีโครงการฝนเทียมที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่ส่วนน้อยไม่วิตก เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก เชื่อว่าจะสามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งนี้ได้ หากมีการรณรงค์และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายช่วยกัน
โดยวิธีการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งของประชาชนอันดับ 1.ติดตามข่าวภัยแล้ง พยากรณ์อากาศ การประกาศแจ้งเตือนต่างๆ ของภาครัฐ อันดับ 2 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หาวิธีรับมือ วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด อันดับ 3 หาภาชนะที่มีขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน
ส่วนพฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชนในขณะนี้ ส่วนใหญ่ใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าปกติ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งยาวนานมากขึ้น ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบ้านเมือง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังใช้น้ำเหมือนเดิมเท่าที่จำเป็น
สิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การสร้างฝายเขื่อน ขุดลอกคูคลองต่างๆ ฟื้นฟูป่าและหาแหล่งน้ำเพิ่ม มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนจริงจัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ