ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.ไฟเขียวปล่อยกู้ 9.3 หมื่นล้านบาท อ้างแก้ภัยแล้ง มีทั้งแบบบุคคล-เอสเอ็มอี-เปลี่ยนการผลิต

ภัยพิบัติ
23 ก.พ. 59
16:05
154
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียวปล่อยกู้ 9.3 หมื่นล้านบาท อ้างแก้ภัยแล้ง มีทั้งแบบบุคคล-เอสเอ็มอี-เปลี่ยนการผลิต
ครม.เห็นชอบให้ธกส.ปล่อยกู้ 9.3 หมื่นล้านบาท ระบุเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งกู้แบบบุคคลปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน แบบเอสเอ็มอีตำรบลละ 1 โครงการ และแบบที่เปลี่ยนการผลิต

วันนี้ (23 ก.พ.) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ แผนแก้ปัญหาภัยแล้งผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย
1.โครงการเงินกู้ฉุกเฉินรองรับปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 6,000 ล้านบาท ปล่อยกู้รายละ 12,000 บาท กำหนดให้ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เป้าหมาย 500,000 ราย เพื่อต้องการลดภาระให้เกษตรกรในช่วงประสบปัญหาภัยแล้งในช่วง 1 ปี และลดปัญหาการพึ่งพาเงินนอกระบบ

2.มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตร ครม.จึงเห็นชอบ โครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีภาคเกษตร เพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกร การสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพระยะยาวกำหนดวงเงินสินเชื่อ 72,000 ล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ในช่วงระยะเวลา 1-7 ปี ส่วนปีที่ 8 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR ตามประเภทลูกค้า ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี หากหลักประกันเงินฝากหรือจำนองไม่เพียงพอ สามารถยื่นขอ บสย. พิจาณาค้ำประกันเพิ่มได้ คาดว่าปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการประมาณ 72,000 ราย

3.มาตรการสนับสนุนปรับเปลี่ยนการผลิต ลดปัญหาภัยแล้งใน 26 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง หวังส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นและใช้น้ำน้อย โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมวงเงินสนับสนุนโครงการวงเงิน 15,000 ล้านบาท ด้วยการให้เกษตรกร รวมกลุ่มมาขอสินเชื่อ จากนั้นนำเงินไปจ้างสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ทำการผลิต โดยหน่วยงานรัฐจะช่วยหาตลาดรับซื้อ ลดปัญหาการปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง คิดอัตราคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 โดยรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ร้อยละ 3.5 หรือเป็นเงินชดเชยให้ ธ.ก.ส.ประมาณ 500 ล้านบาท วางเป้าหมายเหลือเกษตรกร 1 แสนราย

ด้านนายลักษ์ วจนานนวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรได้ยกระดับเป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรในการนำสินค้าเกษตรแปรรูป หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการผลิต ผ่านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร บริษัทในการดำเนินธุรกิจทางการเกษตร ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้ส่งรายเชื่อมาให้ ธ.ก.ส.พิจารณาคัดเลิกแล้วกว่า 200,000 ราย และสสว.ส่งรายชื่อเอสเอ็มอีมาให้พิจารณาเพิ่มเติมด้วย จึงต้องคัดเลือกผู้ประกอบการทุกกลุ่มมาให้การสนับสนุน

ส่วนโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตมาปลูกพืชชนิดอื่น หรือกิจกรรมอื่น เนื่องจากเกษตรกรอาจไม่มีความรู้ในการปลูกพืช และไม่มีตลาดรองรับ โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จึงต้องการส่งเสริมให้รวมกลุ่ม และนำเงินไปจ้างเกษตรกรในพื้นที่ช่วยปลูก จึงไม่ต้องรับภาระในเรื่องเงินกู้ เช่น อ.ลาดบัวหลวง ปลูกแตงเมล่อนญี่ปุ่นส่งห้างสรรพสินค้า ผลิตไม่ทันความต้องการจึงสามารถนำทุนไปให้เกษตรกรในเครือข่ายช่วยปลูกเพิ่มเติมได้ ฟาร์มโคนม จ.กาญจนบุรี นำเงินทุนไปส่งเสริมเกษตรปลูกหญ้าเนเปีย โดยทั้ง 2 โครงการแรก ธ.ก.ส.ใช้เงินทุนบริหารจัดการด้วยขององค์กร จึงไม่เสนอ ครม.จัดสรรเงินชดเชย ส่วนโครงการปรับแผนการผลิต เมื่อคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติร้อยละ 0.01 จึงเสนอ ครม.จ่ายเงินชดเชย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง