วันนี้ (22 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา ต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ระดมเครื่องสูบน้ำกว่า 20 เครื่อง สูบน้ำจากแม่น้ำยม ข้ามฝายเก็บน้ำบ้านพญาวัง ก่อนเดินเครื่องโรงสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า หล่อเลี้ยงนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ ที่กำลังขาดน้ำ ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลหูกวาง อ.บรรพตพิสัย ร่วมกับเจ้าท่า จ.นครสวรรค์ นำรถแบ็คโฮเข้าขุดลอกแม่น้ำปิง เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำไปยังโรงผลิตประปาหมู่บ้าน หลังแม่น้ำปิงช่วงผ่านพื้นที่แห้งขอด
ชาวบ้านแม่ถอด ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง นำกระสอบทรายสร้างฝายกั้นน้ำในแม่น้ำวัง หลังระดับน้ำลดลง ขณะที่บ่อบาดาลในหมู่บ้านตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำ เหลือน้อยลงเช่นกัน ด้านทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำรถผลิตน้ำประปาสนามไปผลิตน้ำอุปโภคบริโภคให้กับชาวบ้านนาเจริญ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย หลังประสบปัญหาภัยแล้ง
ชาวนาใน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ต้องหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย อาทิ บวบ พริก ข้าวโพด และหลังชลประทานหยุดการส่งน้ำ สามารถเก็บผลผลิตขายได้ทุกวัน ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาในเขตเมืองบุรีรัมย์ เหลือน้ำเพียง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเต็ม 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ชลประทานงดปล่อยน้ำทำเกษตร แต่จะเน้นส่งน้ำเพื่อการผลิตประปาให้กับ 5 หมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง
ขณะที่สวนแตงโม ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เริ่มตายเพราะขาดน้ำ แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะมีนโยบายให้งดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหาย
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับแก่งสะพือ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติกลางแม่น้ำมูล มีวัชพืชและผักตบชวา ลอยติดตามโขดหิน และเกิดตะไคร่น้ำ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง จนกระทบกับร้านค้าในพื้นที่ ขณะที่ จ.นครพนม ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว คือ อ.นาหว้า และ อ.โพนสวรรค์ ชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภครวม 6 ตำบล 54 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 10,000 ไร่
ส่วนเกษตรกร ต.ทองหลาง อ.บ้านนา และ ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จ.นครนายก ที่ทำสวนผักและปลูกผลไม้กว่า 200 ไร่ เร่งสูบน้ำในคลอง 30 ที่เหลือเพียงเล็กน้อย และคาดว่าจะหมดลงในอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ ปัญหาสำคัญ คือน้ำต้นทุนจากคลอง 29 แม่น้ำสายนครนายก-รังสิต ไหลมาไม่ถึง เพราะมีเศษวัชพืชจำนวนมาก จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ขณะที่เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างพริกแทนแล้ว