ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกษตรฯหนุน “ลำไยนอกฤดู” ชิงตลาดเออีซี

เศรษฐกิจ
7 พ.ค. 56
12:43
419
Logo Thai PBS
เกษตรฯหนุน “ลำไยนอกฤดู” ชิงตลาดเออีซี

กรมวิชาการเกษตรหนุนผลิต “ลำไยนอกฤดู” ชิงตลาด AEC แนะเกษตรกรใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเกรดส่งออกป้อนผู้บริโภคอาเซียน ชี้โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 24 % ลดความเสี่ยงปัญหาล้นตลาด-ราคาตกต่ำ

 นายดำรงค์  จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกสินค้าลำไยรวม 596,418.68 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 19,896.61 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2556 ได้ส่งออกลำไยแล้วกว่า 161,333.78 ตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 3,180.18 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าลำไยสด ลำไยอบแห้ง และลำไยบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้  

โดยทุกปีเกษตรกรผู้ผลิตลำไยมีความเสี่ยงกับปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยเฉพาะลำไยในฤดูซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวพร้อมกันปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาลดต่ำลงและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน  ปัญหานี้ กรมวิชาการเกษตรเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพให้กับชาวสวนลำไยในพื้นที่จันทบุรี เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตลำไยคุณภาพเกรดส่งออก หรือเกรด 1 และเกรด 2 มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ในปี 2558 ซึ่งลำไยนับเป็นสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดสูง อาทิ ในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น    

 
“ปกติเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมีศักยภาพในการผลิตลำไยนอกฤดูอยู่แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพผลผลิต สวพ.6จึงได้ทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพให้แก่ชาวสวนปลูกลำไย มี 4 ด้าน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของต้นลำไยหลังการเก็บเกี่ยว การกระตุ้นการออกดอกในระยะที่เหมาะสม การจัดการคุณภาพเน้นไว้ผลไม่เกิน 50 ผล/ช่อ และแนะนำให้จัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปัญหาสารเคมีตกค้างปนเปื้อน” นายดำรงค์กล่าว
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ชุดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูที่แนะนำให้กับเกษตรกรนี้ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกได้มากขึ้น หรือได้ผลผลิตเกรด 1 และเกรด 2 สูงถึง 1,373 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็น 76 % ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม 12 % ถึงแม้ต้นทุนจะสูงขึ้น 9 % แต่ผลตอบแทนที่ได้รับสูงกว่าวิธีของเกษตรกรถึง 24 % ทั้งยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้  
 
“เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ภาคตะวันออกส่วนใหญ่ผลิตลำไยนอกฤดู โดยส่งออกลำไยผลสดเป็นหลัก มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน และการเปิดตลาด AEC เป็นโอกาสหนึ่งที่สินค้าลำไยของไทยจะขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากและมีกำลังซื้อสูง เกษตรกรต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยป้อนให้กับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและอาเซียน จะช่วยให้แข่งขันได้ นอกจากนั้นยังต้องวางแผนการผลิตเพื่อให้มีสินค้าป้อนตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า ปี 2556 นี้ ภาคตะวันออกจะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด ประมาณ 227,855 ตัน” นายดำรงค์กล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง