รัฐบาลเยอรมันประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน 11 ปีข้างหน้า
การประท้วงเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเยอรมนีนั้นมีมานานแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล เมื่อปีพุทธศักราช 2529 ซึ่งสารกัมมันตรังสีได้แพร่กระจายข้ามดินแดนจากอดีตสหภาพโซเวียตเข้ามาในเยอรมนี โดยการประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเบอร์ลินครั้งนี้มีขึ้นเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังจะประกาศเปลี่ยนจุดยืน
นายกรัฐมนตรีแองเกล่า แมร์เคิ่ล ประกาศว่า ภายในปีพุทธศักราช 2565 เยอรมนีจะปิดอย่างถาวรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด 17 แห่ง การประกาศครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีแองเกล่าสวนทางกับแนวทางก่อนหน้านี้ เพราะเพิ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เธอได้ผลักดันให้มีการต่ออายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งออกไปจนถึงปีพุทธศักราช 2579 หรือ 25 ปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีแองเกล่า ให้เหตุผลว่า วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี่ทำให้เธอหวนกลับมาคิดใหม่ ซึ่งแม้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะท้าทาย เพราะต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน แต่ที่อยู่เหนืออื่นใดนั้นคือโอกาสอันกว้างใหญ่ของชนรุ่นหลัง
แผนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดนี้จะทำให้เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปกลายเป็นชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกที่ปลอดนิวเคลียร์ และ ถ้าพิจารณาเฉพาะกลุ่มชาติอุตสาหกรรมจี-8 แล้ว เยอรมนีจะเดินตามรอยอิตาลี ซึ่งเป็นเป็นสมาชิกชาติเดียวที่ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งนี้เนื่องจากชาวอิตาลีมีประชามติไม่เอานิวเคลียร์หลังเกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อน
เยอรมนีใช้ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์เพียงแค่ 1 ใน 4 ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนอย่างลม แสงอาทิตย์ และ พลังน้ำนั้นมีประมาณร้อยละ 17 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับของสหรัฐ โดยรัฐบาลเยอรมนีตั้งเป้าว่า จะเพิ่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้