รำลึก 120 ปีชาตกาลหลวงไพเราะเสียงซอ
เสียงสูงหวานแหลมที่เกิดจากการใช้เทคนิคสีซอ 3 สายในเพลงลมพัดชายเขา สื่อถึงความรู้สึกอาลัยได้อย่างลึกซึ้ง คือ เอกลักษณ์ทางการบรรเลงอันโดดเด่นเฉพาะตัวของ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ครูซอแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ใช้ประสบการณ์ครั้งเล่นในวงแอ่วเคล้าซอที่ อยุธยา ผสานความรู้ดนตรีไทยแบบแผนจากพระยาประสานดุริยศัพท์ สร้างสรรค์ทางดนตรี เป็นที่ยอมรับของนักดนตรีรุ่นหลัง ซึ่ง ไพศาล อินธวงศ์ จดจำได้ดีแม้ผ่านเวลามากว่า 40 ปี เพราะเป็นเพลงที่ หลวงไพเราะเสียงซอ หรือ คุณพ่อหลวงฯ ตามที่นักศึกษาชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ เรียกติดปาก เป็นผู้ถ่ายทอดให้เขาด้วยตนเอง
ไพศาล อินธวงศ์ ลูกศิษย์ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ผมได้พบกับท่านเมื่อสมัยที่ท่านอายุ 74 ปีแล้ว ในช่วงที่ท่านได้เข้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นคนใจดี แล้วได้มีโอกาสไปต่อเพลงกับท่านที่บ้านของท่านตรอกโรงม้าต้น สนามม้านางเลิ้ง ซึ่งท่านการใช้นิ้วและใช้คันชักสะอึกมีเทคนิคในการสีซอหลากหลาย"
ขณะที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ลูกศิษย์ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ อีกท่านหนึ่ง เผยว่า"การที่ได้พบกับท่านทำให้เราได้ประจักษ์ว่าเราได้พบกับเทพทางดนตรี เสียงซอของท่านเป็นทิพย์เลยนะ เสียงของท่านสะกดคนได้ ซอ 2 สายก็ได้ 3 สายก็ได้ 4 สายก็ได้ เพราะท่านเล่นไวโอลิน ซอของท่านนี่แตกฉานทั้งหมด"
เพราะมีคุณพ่อหลวงเป็นผู้เปิดโลกดนตรีไทย ทำให้นักศึกษาหนุ่มซึ่งเคยสนใจแต่ดนตรีฝรั่งในยุคนั้นอย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลายเป็น 1ในผู้หลงไหลในดนตรีไทยจนถึงทุกวันนี้ และฝึกหัดเป่าขลุ่ยเพียงออที่ได้รับการถ่ายทอดมาครั้งเป็นนักศึกษามิได้ขาด ทั้งยังจดจำได้ดีถึงความงดงามของเสียงซอครูผู้เฒ่า ที่ไพเราะจนเรียกน้ำตา ผู้ฟังออกมาได้
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวเสริม ว่า ขณะนั้นร่วมทำนิตยสารกับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคุณสุลักษณ์ให้ช่วยหาครูดนตรีไทยให้ ผมจึงเสนอชื่อครูไพเราะเสียงซอ และได้ชวนท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ไปด้วย เมื่อเข้าไปถึง ครูหลวงไพเราะหยิบซอด้วงมาสี ท่านอังคารก็เขม้นมองไม่เคยได้ยิน พอเป็นซออู้ท่านอังคารเริ่มน้ำตาซึม พอเป็นซอ 3 สายท่านอังคารร้องไห้เลย"
ท่วงทำนองดนตรี ไล่เรียงไปดังอาการของระลอกคลื่น จากบทเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 1 ใน 3 บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจากการถวายคำแนะนำของหลวงไพเราะเสียงซอครั้งเสด็จประพาสทางทะเล ซึ่งเสียงซอ 3 สายของครู อุ่น ดูรยชีวิน มีส่วนสำคัญทำให้พระองค์หันมาสนใจดนตรีไทย และรับสั่งว่า"เครื่องดนตรีไทยนี่ ก็แปลก มีแค่ 3 สาย แต่ทำได้ทุกเสียง"
แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองบทบาทของดนตรีไทยจะลดลง หากแต่หลวงไพเราะเสียงซอ ยังเป็น 1 ในผู้ถ่ายทอดและฟื้นฟูดนตรีไทย สร้างลูกศิษย์ทั้งในสถาบันการศึกษาอย่างธรรมศาสตร์และกรมศิลปากรไว้มากมาย การแสดงดนตรี 12 ทศวาร สานเสียงไทย หลวงไพเราะเสียงซอ คือหนึ่งในงานที่คณะศิษย์จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงความโดดเด่นในผลงาน และปณิธานในการอนุรักษ์ดนตรีไทยของครู อุ่น ดุรยชีวิน ที่เหลือไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: