ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลายความเห็นต่อคำ "โกหก" ของ "กิตติรัตน์" เรื่องเป้าหมายส่งออก

24 ส.ค. 55
14:15
824
Logo Thai PBS
หลายความเห็นต่อคำ "โกหก" ของ "กิตติรัตน์" เรื่องเป้าหมายส่งออก

คำพูด White Lie (ไวท์ ไล) หรือ โกหกสีขาว เกี่ยวกับตัวเลขส่งออกไทย ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ที่ผู้บริหารประเทศด้านเศรษฐกิจที่จะประเมินตัวเลขไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้จะระบุว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจตั้งแต่บริหารประเทศ รัฐบาลและกระทรวงด้านเศรษฐกิจยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 15 มาโดยตลอด แม้นักเศรษฐศาสตร์ และ ผู้ประกอบการต่างรู้กันดีเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป และ เศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว แต่การที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประเทศไม่ยอมสะท้อนตัวเลขที่เป็นจริง แล ะอ้างแนวคิด "โกหกสีขาว" อาจลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอ

White Lie ตามนิยามด้านกฎหมาย คือ การไม่พูดความจริง ที่ไม่ร้ายแรง และ มีความตั้งใจดี มักใช้เพื่อการกล่าวให้เกิดผลในทางดีต่อผู้ฟัง โดยทั่วไปแล้วจะก่อให้เกิดความไม่เห็นด้วยเพียงเล็กน้อย หากว่า รับรู้ถึงการกระทำนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดเพื่อหลีกเลี่ยงผลรุนแรงจากการพูดความจริง

จากคำนิยามนี้ตรงกับจุดประสงค์ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ รมว.คลัง ที่ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบจากการประเมินตัวเลขส่งออกในทางลบ แต่เมื่อ นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า พูดไม่จริงเพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศลง

นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าคำว่า ไวท์ไลใช้สำหรับการโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากนักบริหารนำมาใช้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งข้าราชการและนักการเมืองไทยไม่ควรโกหกแต่ต้องพูดจริงทำจริง เพราะนักลงทุนและประชาชนไม่สนใจว่า รัฐบาลพูดอย่างไร แต่สนใจว่าทำจริงหรือไม่

ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2539-2540 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทเคยใช้ทุนสำรองไปทำสัญญาซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า หรือ สวอป เพื่อแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่บันทึกลงบัญชี ซึ่งนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างชาติ มองว่า เป็นการหลอกลวงต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน ซึ่งคำกล่าวของนายกิตติรัตน์ครั้งนี้อาจซ้ำรอยในลักษณะเดียวกัน

ด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า นักการเมืองสามารถใช้กุศโลบายทางการเมืองได้บางกรณี แต่ไม่ใช้ในกรณีสร้างความเชื่อมั่น และ การโกหกไม่มีสีขาวมีแต่สีดำ ซึ่งในสังคมการเมืองประชาธิปไตย นักการเมืองที่ดีไม่ควรโกหก

ส่วนมุมมองของภาคธุรกิจการที่ผู้บริหารประเทศด้านเศรษฐกิจใช้แนวคิดนี้ในการบริหารประเทศอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป อาทิ นางวรวรรณ ธาราภูมิ อดีตนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับนายกิตติรัตน์ เล่าว่า นายกิตติรัตน์เป็นคนกล้าคิดกล้าทำเพื่อผลในวันข้างหน้า แต่หลายครั้งอาจสร้างความไม่พอใจเมื่ออยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประเทศต้องพิจารณาและระวังต่อสิ่งที่พูด เพราะอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง

โดยความพยายามลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการประเมินตัวเลขส่งออกสูง แม้จะแฝงเจตนาดี แต่การสร้างความเชื่อมั่นโดยใช้วิธีที่ผิด อาจส่งผลลบและกระทบความน่าเชื่อถือในอนาคตของรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง