แคมเปญ “31”ถูกปล่อยในโซเชียลมีเดีย ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 เป็นจำนวนมากและกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว เพื่อเน้นว่า เราคือ “ด้อมส้ม” หรือกลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล "ด้อม" มาจากคำว่า "แฟนด้อม" (Fandom) เป็นภาษาที่แฟนคลับศิลปินเกาหลีใช้กัน "ส้ม" คือ สีประจำพรรคก้าวไกล "ด้อมส้ม" ยังประกาศตัวเป็น “หัวคะแนนธรรมชาติ” ของพรรคก้าวไกล เพื่อช่วยส่งผู้สมัครส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ชนะการเลือกตั้ง นำไปสู่การ“จัดตั้งรัฐบาล”
หลายคนมองว่า แคมเปญ “31” คือการสื่อสารลงโซเชียลเพื่อให้เกิดกระแส ไม่ว่าจะเป็น ซื้อส้ม 31 กิโล, 31 ขวัญของชาวกะเหรี่ยงขึ้นอยู่กับสรรพสิ่ง และมีเพียง 5 ขวัญ ที่อยู่กับร่างกายมนุษย์, เปิดหีบ ดีลเด็ด 31 เปอร์เซ็นต์, สินค้าทางร้านเรามีมากกว่า 31 รายการ, 31 สวนน่าวิ่งในไทย หรือ มัดรวม #31 เมนูแนะนำ หิวๆ แวะมาได้นะคะ, 31 ไอเดีย หารายได้เสริมบนโลกออนไลน์, 31 วิธีเพิ่มผู้ติดตามสำหรับบัญชีทางการ, แจก 31 ไอเดีย รอยสักน่ารักๆ จ้า, 31 เรื่องเล็กๆ เพื่อให้คอนเทนท์ มีความ Cinematic, #31 อันดับเพลงที่มียอดวิวสูงสุด ทาง Youtube Channel : The Diva Thailand, ขอการกินหมูกระทะของคุณคนละ 31 ข้อ ให้ฉ่ำใจหน่อย
ข้อความดังกล่าว คือ การนำเลข 31 ของพรรคก้าวไกล ไปยึดโยงกับกระแสที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเพื่อให้เห็นเป็นเนื้อหาและเรื่องเดียวกัน คือ รูปส้ม และสีส้ม
นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เป็นผลพวงของโลกของโซเชียลมีเดีย ที่เรียกว่า User Generated Content ซึ่งคนที่ใช้โซเชียลมีเดียสามารถสร้างสรรค์เนื้อหา ต่าง ๆ ได้
ก่อนหน้านี้เลข 31 เคยปรากฎใน TIKTOK ทวีตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ มาแล้ว และในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง กลุ่มที่ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “หัวคะแนนตามธรรมชาติ” ซึ่งชื่นชอบพรรคการเมืองอยู่แล้วจึงผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง
นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายมานะ กล่าวว่า รูปแบบของคอนเทนต์ จะเห็นได้จาก เพจขายสินค้าในโลกออนไลน์ เช่น ผู้ที่ทำเพจขายอาหาร ก็จะสร้างสรรค์ 31 เมนู อาหารจานเด็ด หรือเพจที่ทำหนังสือ ก็จะนำเลข 31 มาโยงเกี่ยวกับหนังสือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการเลี่ยงไม่ให้ทำผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ มานะกล่าวว่า คงไม่ได้คิดเรื่องเลี่ยงหรือไม่เลี่ยงกฎหมาย เพียงแต่ต้องการแสดงออกทางการเมืองบางอย่างออกมา จริง ๆ มันไม่ใช่เฉพาะในโซเชียลมีเดีย กระทั่งวันเลือกตั้ง การใส่เสื้อสีต่าง ๆ ออกมาหรือที่เรียกว่า Brand Identity ของนักการเมือง เขาก็ใส่สีตามนั้น ทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์
เมื่อถามว่า เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการสื่อสารหรือไม่ มานะบอกว่า จริง ๆ อันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นการสื่อสารในรูปแบบใหม่ ในโลกออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์เนื้อหา สร้างสรรค์สารออกมา ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ส่งสารมืออาชีพ ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมือง ที่ออกแคมเปญ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าวที่รายงานข่าว หรือต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญคนไหนออกมา
เนื่องจากว่า แต่ละคนมีแพลตฟอร์มของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ก็สามารถที่จะใช้ช่องทางของตัวเอง ในการประกาศหรือแสดงความคิดเห็น บอกว่าตัวเองสนับสนุนพรรคการเมืองไหน
ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในการสื่อสารทางการเมือง ผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมือง ใช้โซเชียลมีเดีย ประกาศจุดยืนของตัวเองออกมา
การกระทำลักษณะนี้ นายมานะ มองว่า เป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง ผ่านทางโซเชียล ไม่ต่างจากสร้างแบรนด์ของนักการเมืองที่สวมเสื้อสีประจำพรรคฯหรือที่เรียกว่า Brand Identity ซึ่งปรากฎให้เห็นในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย
นายมานะ วิเคราะห์ว่า วิธีการสื่อสารดังกล่าวของด้อมส้มผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในโลกออนไลน์ มีความชัดเจนว่า เป็นรูปแบบใหม่ของการสื่อสาร เปิดโอกาสให้ทุกคนสร้างสรรค์ “สารและเนื้อหา”โดยผู้ส่งสารไม่จำเป็นต้องเป็นมืออาชีพ หรือพรรคการเมืองที่ออกแคมเปญ ไม่ต้องใช้นักข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะทุกคนมีแพลตฟอร์ม สามารถใช้ช่องทางของตัวเองประกาศ แสดงความเห็นว่า สนับสนุนพรรคการเมืองไหน
“เชื่อว่าเคมเปญนี้ พรรคการเมืองก็คงไม่ได้คิด แต่แฟนคลับ หรือกลุ่มที่สนับสนุนพรรค ใช้ทุกช่องแสดงความคิดเห็น ทั้งใน TikTok และ Youtube ขึ้นอยู่ว่า ใครจะผลิตอะไรออกมา หากเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ก็แชร์ได้ง่าย จึงแพร่กระจายรวดเร็ว”
สำหรับในมุมธุรกิจ นายมานะ กล่าวว่า การใช้แพลตฟอร์มในโซเชียลเพื่อค้าขาย ทำให้ผู้พบเห็นสนับสนุนง่ายขึ้น แต่คนทำอาจไม่ได้คิดถึงธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก อาจมองว่าทำอย่างไรจะสนับสนุน สิ่งที่ตัวเองชอบทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมหรือไวรัลที่เกิดกระแสกับสถานการณ์ ในช่วงนั้น ๆ ที่ผู้คนกำลังสนใจ
ปรากฏการณ์จะขึ้นอยู่กับกระแสในช่วงนั้นว่า สังคมสนใจเรื่องอะไร ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดย Content Creator ก็จะสร้างสรรค์เนื้อหาเกาะกับกระแสด้วย บางครั้งเป็นการประกาศจุดยืน เพื่อสนับสนุนหรือต่อต้านบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลือกตั้งมีการสื่อสารผ่านหลายช่องทาง นอกจากสื่อโซเชียลแล้ว ยังมีการเปิดเวทีปราศรัย การใช้แพลตฟอร์มเก่า เช่น การดีเบตผ่านทางหน้าจอทีวี ทำให้ผู้สนับสนุน สามารถนำไลฟ์ดีเบต เป็นตัดคลิปแล้วเอามาใส่ในแพลตฟอร์มอื่น เช่น TikTok YouTubeและ Facebook ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ด้วย
นายมานะ กล่าวอีกว่า การใช้สื่อเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 ต่างจากปี 2562 ชัดเจน เพราะช่วงนั้นแม้จะมีสื่อโซเชียลแต่ไม่มากเท่าปัจจุบัน และผู้ที่ทำ Content Creator มีจำนวนไม่มาก เช่นเดียวกับการจัดเวทีดีเบต
“สถานการณ์การเมืองกดทับมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์โควิด และการชุมนุมประท้วงต่าง ๆ ทำให้คนอยากแสดงเสียงของเขามากขึ้น และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เป็นแค่ช่องทาง ถ้าตัว Message ไม่แข็งแรง ไม่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถทำอะไรได้ “นายมานะ กล่าว และย้ำว่า แม้พรรคการเมืองอื่น ๆจะใช้วิธีการสื่อสารในลักษณะนี้ แต่ไม่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากข้อความหรือ Message ที่ต้องการสื่อสาร ไม่โดนใจ หรือแข็งแรงพอที่จะโดนใจกลุ่มเป้าหมาย ต่างจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
การใช้สื่อโซเชียลในโลกออนไลน์ส่งผลอันทรงพลังต่อการเมืองไทย ในครั้งนี้อาจจะไม่เคยปรากฎมาก่อน และอาจลบคำสบประมาทว่า "โซเชียลมีเดีย ก็แค่กระแสปลอมๆ"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : ปรากฏการณ์มดส้ม ล้มช้างใหญ่ "ก้าวไกล" กวาดเรียบ 8 จว.