นักวิชาการเผยไม่จำเป็นต้องใช้ซูโดฯในยาแก้หวัด
ทันทีที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศยกระดับให้ซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยสั่งให้ร้านขายยา และสถานพยาบาลทุกแห่งส่งยาชนิดนี้คืนให้กับบริษัทยาภายใน 30 วัน ทำให้กับแพทย์ และผู้ป่วยบางกลุ่มเป็นกังวลว่าจะไม่มียารักษาอาการหวัด และโรคภูมิแพ้
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ประธานกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้านพบว่าไข้หวัดจากโรคภูมิแพ้ และไข้หวัดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้หวัดที่มีสูตรผสมของ ซูโดอีเฟดรีน เนื่องจากในยาแก้หวัดสูตรผสม 1 เม็ด จะประกอบด้วย ยาแก้แพ้ อย่างคลอเฟนิรามีน ซึ่งมีผลในการรักษาอาการแพ้ คัดจมูก น้ำมูกไหล อยู่แล้ว การผสมซูโดอีเฟดรีนลงไปในยาแก้หวัด แทบจะไม่มีผลต่อการรักษา ตรงกันข้ามอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้
แม้ยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนจะมีความสะดวก สามารถรักษาได้ทั้งอาการไข้ และอาการหวัดภายในเม็ดเดียว แต่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีหลายยาประเภทที่ผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน แพทย์ไม่สามารถสั่งยาแยกตามอาการ และปริมาณที่แต่ละคนควรได้รับ ทำให้คนไข้ต้องบริโภคยาเกินความจำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการด้านยา กล่าวอีกว่า การรักษาไข้หวัด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดอาการแน่นจมูก เพราะงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้น้อยมาก จากการสอบถามคนไข้ที่ใช้ยาพบว่ามีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่บอกว่าอาการดีขึ้น ขณะที่การวัดแรงต้านของลมที่เข้าออกจมูก หลังกินยานี้พบว่า อาการดีขึ้นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ก็ยังมียาซูโดอีเฟดรีนตำรับเดี่ยว และยาสูตรผสมเฟนิลเอฟรินที่สามารถใช้ทดแทนได้เช่นกัน
ปัจจุบันมี ซูโดอีเฟดรีนผสมอยู่ในยาเม็ด และยาน้ำตามสูตรตำรับที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย. ทั้งหมด 224 ตำรับในผู้ผลิต 63 ราย ส่วนใหญ่ผสมในยาแก้ไข้หวัด และยาแก้โรคภูมิแพ้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสั่งเก็บคืนผู้ผลิตทั้งหมดแล้ว ขณะที่ยาสูตรเดี่ยวที่อนุญาตให้ใช้มี 10 ตำรับ ในผู้ผลิต 4 ราย
แท็กที่เกี่ยวข้อง: