ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการ จี้ รบ. เร่งคลอดมาตรการ ป้องกันจีนสวมสิทธิ์สินค้าไทย

เศรษฐกิจ
27 เม.ย. 68
15:04
109
Logo Thai PBS
นักวิชาการ จี้ รบ. เร่งคลอดมาตรการ ป้องกันจีนสวมสิทธิ์สินค้าไทย
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เสนอรัฐบาลเร่งคลอดมาตรการป้องกัน จีน สวมสิทธิ์บริษัทไทย เร่งฟื้นเชื่อมั่นสหรัฐฯ ผ่านการแก้ปัญหาจริงจัง ระบุควรตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมา และเปิดช่องให้ผู้แทนมะกันเข้ามาร่วมตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อความไว้วางใจ

วันนี้ ( 27 เม.ย.2568) รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จากประเทศในอาเซียนจำนวน 4 ประเทศ เป็นผลจากการสืบสวนทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมการสวมสิทธิ์ของประเทศจีน ที่ได้เข้ามาสวมสิทธิ์ตั้งฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ในบริษัทอาเซียน

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา

หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ผลการตรวจสอบของสหรัฐฯ ในปี 2023 สรุปว่ามีการสวมสิทธิ์ และทำให้เริ่มไต่สวนเพื่อคำนวณอัตราการเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในปี 2024 และสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ในช่วงเดือน เม.ย. 2025 ที่ผ่านมา

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และภายในประเทศนั้นๆ บริษัทแต่ละบริษัทก็เผชิญภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน โดยบริษัทจากมาเลเซียโดนภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในอัตราที่ต่ำที่สุด ในขณะที่อีก 3 ประเทศเผชิญภาษีดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 100 ดังนั้นมาเลเซียและผู้ผลิตโซลาร์ในสหรัฐฯ น่าจะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีนำเข้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ด้วยอัตราภาษีในระดับนี้คงยากที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตโซลาร์ของมาเลเซียโดยลำพังอาจไม่เพียงพอที่รองรับความต้องการของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นราคาโซลาร์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงขึ้น และทำให้ความต้องการโซลาร์ลดลง ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนผ่านไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะชะลอตัวลง และทำให้ปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น

ในเวลานี้คงเป็นเรื่องยากและอาจจะเลยจุดที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรได้มากแล้ว เพราะเป็นกระบวนการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2024 สหรัฐฯ ตัดสินไปแล้ว ซึ่งไทยอาจจะอุทธรณ์ได้ในบางกรณีแต่ก็คงไม่ง่าย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำก็คือการหามาตรการป้องกันเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก

ทั้งนี้ คำแนะนำในเบื้องต้น คือ รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรจะต้องมีกระบวนการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการพูดคุยและเจรจากับผู้ประกอบการจากต่างชาติว่าจะมีแผนหรือกระบวนการต่างๆอย่างไรเพื่อให้ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากจีน และหันมาสร้างซัพพลายเชนในไทยมากขึ้น

โดยเรื่องดังกล่าวคาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการทุกชาติในประเทศไทย ภาครัฐสามารถใช้กรณีบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาว่าหลักเกณฑ์ใดที่เข้าข่ายการสวมสิทธิ์ และแบบใดไม่เข้าข่าย ซึ่ง ช่องว่างของความแตกต่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องกลับมาทบทวน และถอดรหัสเพื่อหามาตรการรับมือ

มากไปกว่านั้นคือ ควรใช้โอกาสจากการที่ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งในการหารือถึงการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นผ่านการนำเสนอกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรม

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า กล่าวว่า อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ดังกล่าวขึ้นมาโดยเฉพาะ และเชิญชวนตัวแทนเจ้าที่ทางการจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับร่วมตรวจสอบสถานประกอบการ หรือบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการผลิตในไทย หากสามารถทำให้สหรัฐฯ มองเห็นถึงความเอาจริงเอาจังเพื่อจัดการปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ก็อาจจะส่งผลให้อเมริกาพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการขึ้นภาษีได้ในท้ายที่สุด

อ่านข่าว:

 ส่งออกมี.ค.ขยายตัว17.8% อานิสงส์ผู้นำเข้าตุนสต็อกหนี “ภาษีทรัมป์”

"คลัง" จ่อกู้ 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจรับมือภาษีทรัมป์

ปรับแผนล่า “นอมินี” เน้น 6 กลุ่มเสี่ยงสูงทุนเทาฮุบธุรกิจไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง