ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ก.อุตฯ ตั้ง “กมอ.ชุดใหม่” ไร้ขาประจำ หวังตัดตอนสืบทอดอำนาจ

เศรษฐกิจ
27 เม.ย. 68
11:20
248
Logo Thai PBS
ก.อุตฯ ตั้ง “กมอ.ชุดใหม่” ไร้ขาประจำ หวังตัดตอนสืบทอดอำนาจ
“รมว.อุตสาหกรรม” เดินหน้ารื้อระบบเก่า ตั้ง “กมอ.ชุดใหม่” ไร้ “คน สมอ.” ส่ง 6 ชื่อโปรไฟล์หรู แทนขาประจำ “คน สมอ.” ตัดตอนสืบทอดอำนาจ-ล้างอิทธิพล-รื้อระบบเก่า ยึดโมเดล “ทีมสุดซอย” ลุยภารกิจพิฆาตเหล็ก IF-ถอนรากอุตฯศูนย์เหรียญ

วันนี้ ( 27 เม.ย.2568) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ, ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต, ดร.อดิสร เตือนตรานนท์, น.ส.พิมพ์นารา จิรานิธิศ, ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. 6 รายเดิม ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งนั้น

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม

รายงานข่าวจาก กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการคัดเลือกและทาบทามบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดใหม่ เบื้องต้น นอกเหนือจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ และไม่มีประวัติด่างพร้อยแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจโจทย์ และภารกิจสำคัญในการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงภารกิจการปราบอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่ง กมอ.ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ด้วยบทบาทในการกำหนดมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

โดยเฉพาะขณะนี้ที่กำลังมีประเด็นมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น (IF) ที่ รมว.อุตสาหกรรม ได้มีข้อสั่งการให้ กมอ.พิจารณาทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็กเส้น IF เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่า กระบวนการผลิตเหล็กโดยเตาหลอมแบบ IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้ อีกทั้งยังพบปัญหาในการกำจัดสารเจือปน และสิ่งแปลกปลอมที่มากับเศษเหล็ก สร้างมลพิษฝุ่น และแก๊สพิษจากกระบวนการผลิต

แต่กลับยังมีการรับรองเหล็ก IF มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงก็พบปัญหาและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเหล็ก IF มาตลอดเกือบ 10 ปี ตั้งแต่มีการรับรองเตาหลอม IF เมื่อปี 2559 กระทั่งมาเกิดโศกนาฏกรรมอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักรถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ซึ่งตรวจสอบพบเหล็กเส้น IF ในซากอาคารจำนวนมาก

กรณีที่ กมอ.ชุดที่ผ่านๆมาไม่มีการทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ทั้งที่พบปัญหามาตลอด รวมถึงมีกรณีปล่อยปละละเลยการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง

เป็นเหตุผลสำคัญที่ในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดใหม่ทั้ง 6 รายในครั้งนี้ปราศจากตัวแทนจาก สมอ. ซึ่งถือเป็นขาประจำของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. จนถูกมองเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดก่อน 6 รายที่หมดวาระไปนั้นมีถึง 3 รายที่เป็นอดีตเลขาธิการ สมอ. จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจส่งผลให้การพิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของ กมอ.บางครั้งไม่ได้ใช้ดุลยพินิจประกอบข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ

เนื่องจากเห็นว่าบางเรื่องได้ผ่านการพิจารณาของ กมอ.ชุดก่อนๆ ซึ่งมีอดีตเลขาธิการ สมอ.ที่อาวุโสกว่าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.พิจารณามาแล้ว หรืออาจเป็นประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคลากรที่เติบโตและรับราชการใน สมอ.มาด้วยกันจนเกิดความเกรงใจ ตลอดจนอาจมีเรื่องผลประโยชน์ต่างๆมาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้กฎหมายและระเบียบของ กมอ.กำหนดให้เลขาธิการ สมอ.คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นกรรมการ และเลขานุการ กมอ.โดยตำแหน่ง เป็นผู้เสนอวาระ และข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อที่ประชุม กมอ. หากมีอดีตเลขาธิการ หรืออดีตบุคลากรจาก สมอ. เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.อีก อาจส่งผลให้กรอบความคิดจากบุคลากรที่เติบโตมาจาก สมอ. มีอิทธิพลชี้นำและครอบงำแนวทางการทำงาน และดุลยพินิจในการพิจารณาของที่ประชุม กมอ. จนทำให้การพิจารณาไม่ครอบคลุมครบทุกมิติเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับประวัติของ 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. ชุดใหม่ มีประสบการณ์การทำงานระดับสูงในสายงานของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาของ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), 2.ศ.(วิจัย)

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต อดีตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวง อว. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในหารแข่งขันของประเทศ (บพข.),ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก สาขาเคมีวิเคราะห์ (Analytical Chemistry) ประจำปี 2565 โดย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา และปีเดียวกันยังได้รับการยกย่องเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์อีกด้วย,

ขณะที่ น.ส.พิมพ์นารา จิรานิธิศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทน ส.อ.ท.และตัวแทนผู้ประกอบการเอกชน, ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ และรักษาการผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัดกระทรวง อว. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)

อ่านข่าว:

 นิด้าโพล เผยผลสำรวจชี้ “กาสิโน” จุดแตกหัก “เพื่อไทย - ภูมิใจไทย”

รัฐคุมเข้ม “กระดาษสัมผัสอาหาร” หวั่นมีโลหะหนัก เสนอครม.เป็นสินค้าควบคุม

กบน.ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ 40 สต. ตรึงราคาขายปลีกหน้าปั๊ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง