วันนี้ (22 เม.ย.2568) ที่ผ่านมา ตัวแทนรัฐบาลไทยย้ำมาตลอดว่า สงครามการค้ารอบนี้ ไทยจะวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง แต่การที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้ากับทั้งสหรัฐฯ และจีน ในสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ประเทศต่างไม่ยอมกันแบบนี้ การจะวางตัวให้เป็นกลางก็อาจจะยาก เพราะแม้ไทยจะค้าขายส่งออกไปยังสหรัฐเป็นตลาดหลักอันดับ 1 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จีน ก็เป็นเบอร์ต้น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ ประเด็นนี้สหรัฐฯ ยังไม่ค่อยสบายใจ และมองว่า ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าจีน
หากเปรียบเทียบ สถิติการค้าของไทยไปยังทั้งสหรัฐฯ และจีน ถือว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทย มูลค่า 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจีนเป็นตลาดส่งออกรองลงมา มูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเจรจากับขอลดกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ มีความสำคัญกับไทยอย่างมาก

แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เมื่อปีที่แล้ว "จีน" เป็นประเทศที่หอบเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทย มากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าลงทุน กว่า 170,000 ล้านบาท ขณะที่สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย เป็นอันดับที่ 7 มูลค่าลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท
ทำให้คำขู่ของจีน ที่ระบุว่าหากประเทศไหน ที่เจรจากับสหรัฐฯ แล้ว ทำให้จีนเสียประโยชน์ จะได้รับการตอบโต้จากทางจีนด้วย สิ่งนี้สะท้อนว่า "ไทย" กำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้ง 2 ด้าน จากสงครามการค้า ที่ต้องถ่วงดุลการเจรจาให้ดี เพราะจะออกตัวแรงยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ แบบหมดเปลือก ก็อาจกระทบกับอุตสาหกรรมของจีนที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

รองศาสตราจารย์ อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญจีน ตั้งข้อสังเกตว่า คณะผู้แทนเจรจาของประเทศ หรือ ทีมไทยแลนด์ วางกลยุทธ์และประสานการเข้าถึงผู้มีบทบาทสำคัญของสหรัฐฯ ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
หลังถูกสหรัฐฯ เลื่อนกำหนดนัดเจรจา ทั้งที่ คณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ ที่เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนคณะของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง
และยังวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ และจีน กำลังให้ความสำคัญกับ "เวียดนาม" มากกว่า ประเทศไทย หลังรองนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้เข้าพบกับ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา และทรัมป์ ก็โพสต์ข้อความ รอการประชุมเจรจากับเวียดนาม ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่ ปธน.สี จิ้นผิง เดินทางเยือน 3 ประเทศอาเซียน ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย และ เวียดนาม พร้อมกับ ลงนามความตกลงร่วมกัน 45 ฉบับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
และก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ครอบครัวของทรัมป์ กำลังลงทุนพัฒนาโครงการสนามกอล์ฟและรีสอร์ตในเวียดนาม มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีท่าทีของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ย้ำว่า การเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ได้ล่ม แต่การเลื่อนออกไป เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยทบทวนข้อเสนอบางประเด็น ให้มีการลงในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งอยู่ใน 5 ประเด็นที่มีการแถลงไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ พร้อมยืนยันว่า ไทยไม่ได้เลือกข้าง เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ และไม่จำเป็นต้องมีทีมพิเศษเพื่อเจรจากับจีน
ขณะที่ ภาคเอกชน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไม่กังวล กรณีเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ ออกไป แต่มองว่า เป็นโอกาสในการเจรจาที่ทำให้ไทย มีเวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้น เพราะหลายประเทศที่ไปเจรจาก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยอมรับว่าผลพวงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ และ ปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะกระแสการปรับ ครม. ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น

มีรายงานว่า ประเด็นที่สหรัฐฯ มีความกังวล คือ การสวมสิทธิ์สินค้าจีน โดยใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนแผนการเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ จะต้องรอให้มีการสรุป ผลเจรจาก่อนว่ากลุ่มใดได้รับผลกระทบบ้างและจะเยียวยาอย่างไร
รมว.พาณิชย์ แง้มว่าการเจรจารอบใหม่ คาดว่า จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ แม้จะยังอยู่ในช่วงที่สหรัฐฯ ชะลอการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้คู่ค้า 90 วัน แต่ระหว่างทางกว่าจะได้เจรจา "ก็ไม่ง่าย" เพราะสหรัฐฯ ยังออกมาตรการเก็บภาษีรายสินค้า ออกมาต่อเนื่อง รวมทั้งท่าทีของจีนก็ไม่ยอมถอยหากตัวเองเสียประโยชน์ แม้ว่าไทยเราจะวางตัวเป็นกลาง ก็ไม่อาจเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้ารอบนี้ไปได้
อ่านข่าวอื่น :
“พิชัย”ยัน ไทยไม่เลือกข้าง เดินหน้าเจรจา “ภาษีทรัมป์” เน้นรอบคอบ
อดีตคลังเตือนรัฐบาล เจรจาภาษีสหรัฐฯ ระวังการเมือง-ความมั่นคง