ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห่วงเจรจาการค้าสหรัฐฯ กระทบผู้ประกอบการรายย่อย

เศรษฐกิจ
9 เม.ย. 68
13:20
194
Logo Thai PBS
ห่วงเจรจาการค้าสหรัฐฯ กระทบผู้ประกอบการรายย่อย
อ่านให้ฟัง
05:10อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเจรจากับสหรัฐฯ หลายประเทศเตรียมข้อเสนอต่อรองให้สหรัฐฯ ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้า รวมทั้งไทยที่อาจต้องยอมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เรื่องนี้เริ่มมีเสียงความกังวลจากผู้ประกอบการรายย่อยในภาคเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าบางรายการ

วันนี้ (9 เม.ย.2568) เป็นวันที่มาตรการตอบโต้ภาษีกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้และประเทศไทยเราถูกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ร้อยละ 36 แม้รัฐบาลจะมีแนวทางการเจรจา เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะรายย่อยและภาคการเกษตร เริ่มกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบจากสินค้าที่นำเข้าเพิ่ม

การประชุมติดตามมาตรการการค้ากับสหรัฐฯ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการพูดถึง 5 แนวทางเจรจากับสหรัฐฯ เน้นไปที่นโยบายในลักษณะ Win-Win Solution เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อไทยและสหรัฐฯ

ประเด็นหลักๆ ที่จะเจรจาต้องทำให้สหรัฐฯ เห็นว่าไทยมีความพยายามแก้ปัญหาดุลการค้ากับสหรัฐฯ แนวทางข้อแรกจึงเป็นการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืชเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นส่วนจากเนื้อสัตว์อย่างเครื่องใน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการผ่อนคลายทางภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการค้าของสหรัฐฯ และการแก้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-Tariff Barriers และประเด็นสำคัญคือ การคัดกรองไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากจีน อ้างอิงถิ่นกำเนิดจากไทยส่งไปยังสหรัฐฯ รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงาน

อ่านข่าว : ถึงกำหนด 9 เม.ย. "ทรัมป์" รีดภาษีนานาชาติ ไม่อ่อนข้อ "จีน" ขึ้น 104%

ที่ผ่านมา หลายเวทีที่ถกการแก้ปัญหาจากนโยบายสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่ภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ แม้รัฐบาลจะย้ำว่าต้องไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศ แต่อีกฝากหนึ่งเริ่มมีสัญญาณความกังวลจากผู้ผลิยรายย่อยและภาคการเกษตร

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล คัดค้านการเปิดให้นำเข้าชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ โดยมองว่าจะกระทบกับคนเลี้ยงสุกรในไทยที่เพิ่งรอดจากปัญหาโรคระบาดและการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน ซึ่งการนำเข้าเพิ่มก็ไม่ต่างจากการซ้ำเติมผู้ประกอบการในประเทศ

ขณะที่ 4 องค์กรประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าพืชไร่ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลในวันนี้ (9 เม.ย.)

นอกจากการตั้งรับกับสินค้าที่ไทยจะต้องไปเจรจานำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม มีมุมมองจากนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า แนวโน้มการตอบโต้ทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ไม่มีใครยอมใคร จนโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีจีนกว่า 100% อาจทำให้ผู้ประกอบการในไทยต้องเตรียมรับมือสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบรายย่อยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ภาคธุรกิจที่น่ากังวลใจคือภาคธุรกิจที่อยู่ในประเทศด้วย ทั้งหมัดหนึ่งคือ Tariff ด้วยตัวมันเอง และหมัดสองสิ่งที่มาจากจีน ถ้าสหรัฐฯ กับจีนยังไม่มีใครยอมใคร ไม่ยอมเจรจา ก็คงยืดเยื้อและหากยืดเยื้อสินค้าจีนจะไหลมาไทย

นอกจากผลกระทบที่เกิดกับการทำมาค้าขายของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคการเกษตรในประเทศ ผลกระทบทางอ้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาคการท่องเที่ยวของไทย อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เศรษฐกิจไทยที่โตไม่ถึงเป้าทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในปี 2568 พลาดเป้าและกระทบลามไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยและภาคเกษตรบางส่วน มองว่าการเจรจานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เป็นอันดับแรกๆ ดูไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะสินค้าส่งออกที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อถึงการเจราจานำเข้ากลับเป็นกลุ่มเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ

อ่านข่าว

สงครามการค้ายก 2 สะเทือนสหรัฐฯ แค่ไหน?

มหาศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน ภาษี 104% เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก

ทางออกการค้าไทย รับมือภาษีทรัมป์ “พาณิชย์”เร่งปิด FTA ไทย-EU

ส.อ.ท.กังวลสินค้าจีนทะลักไทย หวั่นถูกทุ่มตลาด จี้รัฐใช้ กม.ลงโทษจริงจัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง