ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สตง.ต้องปกป้องงบแผ่นดิน ทัวร์ลงหนักจดหมายเวียนผู้ว่าฯ

ภัยพิบัติ
2 เม.ย. 68
14:20
387
Logo Thai PBS
สตง.ต้องปกป้องงบแผ่นดิน ทัวร์ลงหนักจดหมายเวียนผู้ว่าฯ
อ่านให้ฟัง
05:47อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ถึงขณะนี้ หลายหน่วยงานมากองค์กร กำลังมุ่งมั่นหาความจริง เรื่องอาคารสตง.แห่งใหม่พังถล่ม มีปัจจัยอื่นประกอบนอกจากแผ่นดินไหวหรือไม่ การออกแบบ การก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ อย่างกรณีเหล็กเส้นที่กำลังตรวจสอบ ตรงตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อคลี่ปมสาเหตุ และปลายทางอยู่ที่เอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แต่ที่สร้างความแปลกใจ คือท่าทีและความเคลื่อนไหวของ สตง. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เจ้าของโครงการมูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท นอกจากการออกแถลงการณ์สั้นๆ ผ่านแฟนเพจ สตง.เมื่อ 29 มีนาคม ที่แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

และก่อนหน้านั้น 28 มี.ค.วันเกิดเหตุ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสตง. แถลงว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างก่อนอาคารถล่ม คืบหน้าไปแล้ว ร้อยละ 30 ทั้งยืนยันการดำเนินงานมีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน และอ้างอิงด้วยว่า งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างต่ำกว่าราคากลางที่ 2,522.15 ล้านบาท หรือช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากกว่า 386 ล้านบาท

ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับท่าที และการออกโรงชี้แจง เพราะหลายฝ่ายต่างรอคำอธิบายจากทาง สตง.อยู่ แต่การแสดงจุดยืนดังกล่าว แทบสูญสิ้นไม่มีประโยชน์เลย เมื่อปรากฏว่า ผู้ว่าฯ สตง.ออกจดหมายเวียนภายใน เนื้อหาปลุกเร้าให้ทุกคนจับมือกันเพื่อก้าวเดินต่อไป จะอดทนอดกลั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ไม่วายมีข้อความตัดพ้อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ด้วย

แต่ไม่ได้สื่อสาร หรือแสดงออกถึงเรื่องความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีมีคนงานก่อสร้างค่อนร้อยคนอยู่ภายใต้ซากปรังหักพังของโครงการดังกล่าว แต่กลับตอกย้ำความฝันการสร้างอาคารหลังใหม่อีกต่างหาก

แม้จะเป็นจดหมายเวียนภายใน และในเวลาต่อมาจะยกเลิกไป แต่ถ้อยคำในจดหมาย ได้ถูกเผยแพร่ออกสู่ภายนอก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนโศกเศร้าและลุ้นการช่วยชีวิตคนงาน ท่ามกลางความพยายามของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ทำงานแข่งกับเวลาที่นับถอยหลังลงเรื่อย ๆ จึงสะเทือนความรู้สึกของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้

จึงไม่แปลกที่จะโดนทัวร์ลง ถูกวิพากษ์อย่างหนัก รวมทั้งให้ข้อคิดจากหลายคนหลายฝ่าย อาทิ นางอังคณา นีละไพจิตร สว.กลุ่มประชาสังคม และ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ หรือ กสม. ที่ซัดว่า พูดถึงแค่ถูกทำลายความฝันการมีบ้านหลังใหม่ แต่เทียบไม่ได้กับแรงบีบคั้นหัวใจของครอบครัวผู้ที่สูญเสีย ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ไม่ต่างจาก ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิพากษ์ผู้ว่า สตง.ต้องการให้กำลังใจคนในองค์กร แต่ไม่ได้กล่าวถึงความสูญเสียของชีวิตคน ที่เกิดจากอาคาร สตง.ถล่ม ลืมไปว่า ยังมี 70 ชีวิตที่ยังติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ต้องเร่งช่วยเหลือ แทนที่จะได้กำลังใจจึงกลายเป็นถูกวิจารณ์หนักเข้าไปอีก

ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนระดับผู้ว่า สตง. ที่ต้องทบทวนพิจารณา รวมทั้งฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่นจากผู้คนทั่วไป สำหรับสตง.ที่เคยมีบทบาทการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของรัฐ หลายๆโครงการที่ผ่านมา

ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงคุ้นกับชื่อ สตง. รวมทั้งชื่อผู้ว่า สตง.คนก่อนๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา หรือนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส แม้อาจจะมีปัญหาขัดแย้งภายใน และมีเรื่องคดีความส่วนตัวบ้าง แต่ก็เคยมีผลงาน อาทิ ตรวจสอบงบประมาณเงินแจกชาวนาในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โครงการการจัดซื้อรถไฟ 4,700 ล้านบาท รวมทั้งโครงการการทวงคืนท่อก๊าซของปตท.ในอดีต

การสร้างอาคารหลายพันล้าน อาจใช้เวลา 2-3 ปีก็เสร็จสิ้น แต่การสร้างชื่อและผลงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้คน อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นหลายเท่า สตง.เคยไปถึงจุดนั้นมาแล้ว แต่อาจต้องกลับไปเริ่มต้นที่จุดสตาร์ทอีกครั้ง

เพียงเพราะการตัดสินใจชั่ววูบโดยผู้บริหารระดับสูง แต่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง และมองข้ามชีวิตและความเดือดร้อนของคนอื่น

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "แพทองธาร" สั่งครม.สอบปมตึก สตง.ถล่ม เร่งกู้ความเชื่อมั่นโลก

"คลัง" เผยกรมบัญชีกลางเพิ่มงบ ปภ. 200 ล้าน รองรับช่วยเหลือปชช.

“ซิน เคอ หยวน” สตีล บริษัทผลิตเหล็กก่อสร้าง “ทุนจีน-หุ้นไทย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง