วันนี้ (31 มี.ค.2568) ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่เมืองสะกาย เมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ซึ่งส่งลามมายังไทย โดยเฉพาะเขตกรุงเทพและจังหวัดต่างๆ ที่มีระดับความรุนแรง (4.5-5.0 Modified Mercalli Intensity Scale – MMI) เชียงใหม่ (5.2-5.7 MMI) ส่งผลต่อต่อชีวิต ทรัพย์สิน และไม่สามารถประเมินมูลค่าได้นั้น

จากวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท จากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองหลักอย่าง เช่น เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งงานอีเวนท์ ร้านอาหาร ค้าปลีก การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง
เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนจะต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัวและการสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรมองว่า สำหรับภาคธุรกิจ แม้จะมีการซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหาย และความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งความต้องการเช่าจะมีมากขึ้น ข้อมูล REIC พบว่า จำนวนอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 6.5 หมื่นหน่วย มูลค่า 3.75 แสนล้านบาท
ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พักในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง แม้จะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น จากเดิมก็มี Downside อยู่แล้ว หลังตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เริ่มลดต่ำลงในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 ที่ 37.5 ล้านคน ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะถูกทบทวนปรับลง

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินอาจบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ประเด็นกำลังซื้อที่เปราะบางและหนี้ที่สูง จะยังเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของครัวเรือนและธุรกิจในระยะข้างหน้า
สถานการณ์ข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ความเสี่ยงด้านลบจะมีมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมหลัก รวมถึงการขยายสินเชื่อและคุณภาพหนี้
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อ GDP จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังรอติดตามการประกาศผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.น.นี้ หากไทยโดนภาษีในอัตรา 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP เพิ่มเติมอีกราว -0.3%

ผลกระทบสถานการณ์แผ่นดินไหวประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้า กนง. มีโอกาสสูงขึ้นที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปี มาเป็นรอบการประชุมในเดือนเม.ย.นี้ และ มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคการเงิน แม้ในปัจจุบัน ผู้ได้รับผลกระทบยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ก่อนแจ้งเคลม แต่คาดว่าผลกระทบต่อธุรกิจประกันน่าจะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากเป็นเหตุที่ไม่เกิดบ่อยในไทย

และบริษัทประกันไทยส่วนใหญ่มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยต่อ (Reinsure) ไปยังต่างประเทศ ขณะที่ อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) ของธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึงประมาณ 3 เท่า ซึ่งภัยธรรมชาติจะมีผลให้ลูกค้าตื่นตัวในการทำประกันภัยมากขึ้นทั้งกลุ่มอัคคีภัยและ Industrial All Risks Insurance (IAR)
ขณะที่ ประเด็นติดตามคือคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะในส่วนหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมก็มีแนวโน้มถดถอยลงหลังจากช่วงโควิด และศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินก่อนหน้านี้ว่า สัดส่วน NPLs ของระบบแบงก์มีโอกาสปรับจาก 2.7% ณ สิ้นปี 2567 มาแตะที่ขอบบนของกรอบ 2.65-2.85% สิ้นปี 2568 มากขึ้น
และการไถ่ถอนหุ้นกู้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะที่เหลือของปีนี้ รวมถึง ผลจากการลดดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น อันจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทยเพิ่มเติม
อ่านข่าว:
อสังหาฯ ไทยซึมยาว KKP แนะต่างชาติถือครอง แก้บ้าน "ล้นตลาด"
หอการค้าไทย จี้เร่งทำระบบเตือนภัย "แผ่นดินไหว"ไม่กระทบธุรกิจ