ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.จัดทีมวิศวกรอาสา ประเมินความเสียหายอาคาร

ภัยพิบัติ
29 มี.ค. 68
12:29
2,276
Logo Thai PBS
กทม.จัดทีมวิศวกรอาสา ประเมินความเสียหายอาคาร
อ่านให้ฟัง
05:28อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมวิศวกรอาสา 200 คน กระจายกำลังตรวจสอบความเสียหายอาคารทั่วกรุงเทพฯ เบื้องต้นมีประชาชนแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue กว่า 1,000 รายงาน พบ 700 อาคารอยู่ในเคสสีเหลือง และต้องประเมินเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจ

วันนี้ (29 มี.ค.2568) วิศวกรอาสากว่า 200 คน ที่เดินทางมาตามคำเชิญของกรุงเทพมหานคร รวมตัวกันและแบ่งกำลัง 20 กลุ่ม กลุ่มละ 7-10 คน กระจายลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคารในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เพื่อประเมินโครงสร้างความเสียหายตามที่ได้รับแจ้งจากประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue

จากข้อมูลพบว่ามีประชาชนแจ้งพิกัดและถ่ายภาพความเสียหายส่งผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่า 1,000 รายการ ในจำนวนนี้มีกว่า 700 รายการที่อยู่ในเคสสีเหลือง และต้องลงพื้นที่ไปประเมินความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาหาข้อสรุปอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พื้นที่รอบนอกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นพบว่ามีอาคารสูง 200 แห่ง ที่ต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและดูแนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้จะอยู่ในย่านดินแดง-ห้วยขวาง โดยพบว่ามีคอนโดมิเนียม 2 แห่งย่านลาดพร้าว ที่ต้องอพยพคนออกทั้งหมด ไม่สามารถให้เข้าพักอาศัยได้ เพราะโครงสร้างไม่ปลอดภัย

ส่วนกรณีเครนหล่นจากคอนโดสูงที่กำลังก่อสร้าง จนมีชิ้นส่วนกีดขวางการจราจรบริเวณทางด่วนดินแดง ขณะนี้ยังไม่เปิดการจราจร เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเข้าเก็บชิ้นส่วนที่กีดขวางเส้นทาง รวมทั้งเร่งนำเครนลงมาจากอาคาร

นอกจากนี้ พบว่ามีประชาชนกว่า 300 คน เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะที่เปิดให้เข้าพัก โดยกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดให้บริการอีก 1 คืน หากพบว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ด้านกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยประสานงานกับสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร ในการเตรียมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร เน้นอาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นลำดับแรก หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย จะเสนอให้ระงับการใช้อาคารและดำเนินการปรับปรุงให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ก่อนเปิดใช้อาคารต่อไป

ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) เริ่มตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน 9 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 3 อาคาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 2 อาคาร และโรงพยาบาลเลิดสิน 4 อาคาร โดยจะประชุมวางแผนกำหนดแนวทางตรวจสอบอาคารร่วมกัน และตรวจสอบอาคารเพิ่มเติมอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ อาคารกระทรวงพาณิชย์ อาคารกระทรวงมหาดไทย อาคารสำนักงบประมาณ อาคารทำเนียบรัฐบาล อาคารคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ อาคารกรมศุลกากร (คลองเตย) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และกรมสรรพากร (อารีย์)

นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง แนะนำให้เจ้าของอาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ที่เป็นของภาคเอกชน ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของการเข้าใช้อาคารตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคาร ต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ตามช่องทางที่กำหนด

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้ง เพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคาร โดยให้รวบรวมวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาในพื้นที่เข้าร่วมตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน

อ่านข่าว : ปภ.เผยพบสัญญาณชีพ 15 คนติดใต้ซากตึกถล่ม - จนท.เร่งช่วย 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง งดให้บริการอีก 1 วัน หลังแผ่นดินไหว 

อาฟเตอร์ช็อก 77 ครั้ง แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง