ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชำแหละ "คำพิพากษา" คดี "พิรงรอง" ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

สังคม
24 ก.พ. 68
10:50
77
Logo Thai PBS
ชำแหละ "คำพิพากษา" คดี "พิรงรอง" ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
อ่านให้ฟัง
08:50อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชำแหละคำพิพากษา คดีจำคุก อ.พิรงรอง กสทช. 2 ปี ไม่รอลงอาญา นักนิติศาสตร์ - ตุลาการ ข้องใจ คำพิพากษา 25 หน้า ไม่มีคำแก้ข้อกล่าวหาจากจำเลย ชี้เป็นบรรทัดฐาน ฟัน ม.157 พร้อมติดคุก หวั่น ขรก.- จนท.ถอดใจ เกียร์ว่าง กระทบระบบตรวจสอบสังคมไทย

วันที่ 21 ก.พ.2568 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา “ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา : ความเห็นทางนิติศาสตร์ กรณีคำพิพากษาจำคุก กสทช. พิรงรอง”

ซึ่งเป็นเวทีวิชาการสืบเนื่องมาจาก คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา จำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานความผิดตามมาตรา 157 ในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (โจทก์) ฟ้อง อ.พิรงรอง (จำเลย)

ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่า ผลของคดีสร้างความประหลาดใจให้กับสังคม โดยเฉพาะวงการนักกฎหมาย มีหลายประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อโต้แย้งที่ตั้งคำถามถึง “อำนาจ กสทช." ต่อมิติการกำกับดูแลธุรกิจประเภท OTT (Over-The-Top) ว่าทำได้หรือไม่

นอกจากนี้คำพิพากษาที่ระบุถึงการที่ศาลใช้คำที่ว่าจำเลย “ชี้นำ, กดดัน , บงการ” สะท้อนได้ว่า การประชุมอนุกรรมการ กสทช. ในช่วงที่เป็นประเด็น ทำให้มีข้อถกเถียงหลากหลาย การชี้นำหรือกดดัน อาจไม่ได้หมายถึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะในหลักปกติของการประชุม ดังนั้น ประธาน (อ.พิรงรอง) ในที่ประชุม ก็มีหน้าที่ต้องชี้นำโน้มน้าวการประชุมอยู่แล้ว และถ้าดูจากคำพิพากษา ก็เห็นชัดว่า ไม่ได้มีการแสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานใด ๆ ที่ระบุว่า การกระทำใดเป็นการบงการ

สำหรับคดีนี้ไม่ได้บอกว่า จำเลยผิดหรือไม่ เพียงแต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าศาลใช้คำว่า “ชี้นำ กดดัน บงการ” เป็นข้อสำคัญในคดี แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนว่า เป็นการกระทำที่ชี้นำ กดดัน บงการ กรรมการท่านใด หรือกระทำอย่างไร ไม่ปรากฏในคำพิพากษา

คำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นการบั่นทอนกำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่พยายามจะผลักดันขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิประชาชน และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

ด้าน ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนว่า การที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นคำร้องขอให้ศาล มีคำสั่งให้จำเลยระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยนั้น สะท้อนถึงเจตนาในการฟ้องร้องครั้งนี้ ที่ตั้งใจให้จำเลยหมดอำนาจ และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีก

ซึ่งประเทศไทย ควรมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจากผลของคดีที่เป็นในรูปแบบ การฟ้องร้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) เพื่อป้องกันการฟ้องร้องลักษณะนี้

ในช่วงหนึ่งของการเสวนา ศ.ดร.ทวีเกียรติ ได้เปิดคลิปสัมภาษณ์ (Today) ที่สัมภาษณ์ นายวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธาน บริษัท ทรูไอดี ที่ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลการฟ้องร้องว่า “ต้องการสร้างความมั่นใจกับลูกค้า 30 กว่าล้านคนว่า ทรูไอดีไม่ได้กระทำผิดในเชิงกฎหมาย”

ซึ่งหลังเปิดคลิปเสร็จ ศ.ดร.ทวีเกียรติ สะท้อนว่า จริง ๆ แล้ว บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป สามารถมีทางเลือกอื่นได้ แทนการฟ้องร้อง และสามารถทำได้ไม่ลำบาก คือการสมัครเข้าเป็นผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย IPTV และจ่ายค่าธรรมเนียม 5 แสนบาท และค่าธรรมรายปีตามรายได้ แต่ทรู ฯ เลือกจะไม่ทำแบบนั้น

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของคำพิพากษาว่า ตามหลักปกติ คำพิพากษาปกติมักจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรกโจทก์ฟ้องอะไร ส่วนที่สองคือจำเลยแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร และส่วนที่สาม เป็นความเห็นและคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล

คดีอาจารย์พิรงรอง มีข้อสังเกตว่า ในคำพิพากษาครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 25 หน้า แต่กลายเป็นคำฟ้องของโจทก์ ทรู ดิจิทัล) ไปแล้วถึง 12 หน้า และน่าแปลกที่ไม่ระบุส่วนที่ว่า จำเลย (อ.พิรงรอง) ได้แก้ข้อกล่าวหาหรือต่อสู้ทางคดีอย่างไรบ้าง จากนั้นอีกหน้า 13 ได้รายละเอียดตามคำฟ้อง และระบุว่า “ศาลไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ” เท่านั้น

น่าแปลกที่คดีอาญาแบบนี้ เป็นคดีที่มีโทษเป็นการติดคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในเนื้อหาคำพิพากษาก็ควรระบุให้ชัดว่า จำเลยได้แก้ข้อกล่าวหาอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากคดีอื่นที่เคยเห็นมา อีกทั้งการต่อสู้ของจำเลยก็มาปรากฏในเอกสารอยู่ที่หน้า 25 (หน้าสุดท้าย)

โดยศาลระบุแค่ว่า “จำเลยให้การต่อสู้ลอย ๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพฤติการณ์ของจำเลย ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์” และระบุ พิพากษา จำคุก 2 ปี ซึ่งหากชี้ว่าข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ก็ควรจะมาหักล้างให้ดู แต่ศาลสรุปโดยไม่มีคำอธิบายว่าหักล้างอย่างไร ไม่มีน้ำหนักอย่างไร ซึ่งน่าแปลก”

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่โจทก์อ้างถึงประกาศ กสทช. เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555” ว่า ประกาศฉบับนี้ระบุถึงการให้บริการกิจการ OTT ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ส่วนตัวได้อ่านแล้ว กลับไม่พบการระบุถึง OTT แต่อย่างใด เพียงแต่เขียนว่า ผู้ใดที่จะประกอบกิจการโทรทัศน์จำเป็นต้องมาขออนุญาต และกำหนดนิยามไว้ชัดเจน และไม่แปลที่ อ.พิรงรอง ในฐานะประธานอนุกรรมการ กสทช. จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ

ข้อสำคัญ ที่ ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตคือ การพิพากษา ว่าเกิดความเสียหาย แล้วผิด มาตรา 157 จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้หน่วยงานรัฐ ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ หวาดกลัวเกิดเกียร์ว่าง ไม่กล้าตรวจสอบ ไม่กล้าทำหน้าที่ จากนี้จะไม่มีใครกล้าใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับสังคมไทย

อ่านข่าว : รู้จัก “บุหรี่ไฟฟ้าเด็ก” มหันตภัยร้าย ทำลายปอดเด็ก ทำลายสังคมไทย

"ภูมิธรรม" มั่นใจดับไฟใต้ตามไทม์ไลน์ "ทักษิณ" ทำได้

พบเมือง "ชเวโก๊กโก่" ยังเดินหน้าก่อสร้างอาคาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง