เพราะมีความสนิทสนมมาเก่าก่อน ทำให้โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาพบปะกับคณะครูของโรงเรียน และผู้บริหารโรงเรียนเอกชนใน จ.ปัตตานี ในวันอาทิตย์นี้ (23 ก.พ.2568)
ครูบางคนบอกว่า การมาเยือนของนายทักษิณ ก็เสมือนการมาเยี่ยมเพื่อนเก่า เพราะมีความสนิทสนมกับผู้บริหารโรงเรียน ตั้งแต่ก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งเมื่อกว่า 20 ปีก่อน และคนสนิทของผู้บริหารโรงเรียนคือ นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ ก็ยังเคยเป็นอดีต สว.อีกด้วย

สิ่งที่โรงเรียนเอกชนอยากเห็น ในรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เข้ามายกระดับโรงเรียนเอกชน คือ การเพิ่มค่าอุดหนุนต่อหัวสำหรับนักเรียน เพราะในปัจจุบันโรงเรียนต้องนำเงินส่วนนี้มาเฉลี่ยให้กับครูสอนศาสนา การให้ทุนการศึกษาที่ต่อเนื่อง อย่างโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือการสร้างงานให้เยาวชนในพื้นที่
ยินดีที่อดีตนายกฯ ทักษิณมาเยี่ยมที่โรงเรียน สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน คือ ทุนการศึกษา และการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะระบบการศึกษาบ้านเรา ยิ่งปัจจุบันการศึกษาก็ยิ่งสูง การจะไปติวก็ต้องใช้งบลงทุนสูง ถ้าลูกตาสี ตาสา ลูกชาวบ้านจะไปติว มีน้อยมาก
นายอุสมาน อารง ผอ.รร.สายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี กล่าว

หากลงลึกในสถานที่ที่นายทักษิณจะลงพื้นที่ ในวันอาทิตย์พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นฐานที่มั่นเดิมของพรรคประชาชาติ ที่นำโดยกลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับนายทักษิณมาก่อน จึงมีนัยทางการเมืองที่สำคัญ
ต้องยอมรับว่า คดีตากใบที่ถูกเพิกเฉย อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาชาติ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะดึงคนมาช่วยกระตุ้นเสียงให้พรรค โดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร เพราะพื้นที่ที่ท่านทักษิณไป ล้วนเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาชาติเกือบทั้งหมด และมิตรสหายของท่านทักษิณ
นายรักชาติ สุวรรณ อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าว

นายรักชาติ ยังไม่คาดหวังมากนัก กับการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุข หลังการลงพื้นที่ของนายทักษิณ แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่จะเดินทางมาด้วย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ใหม่
เพราะจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการอิงแนวทางตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่มีเนื้อหาสำคัญคือการนิรโทษกรรม
มันต้องคุยกันก่อน มันมีกรอบการคุยกันมาอยู่แล้ว แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ระหว่างรัฐไทยและบีอาร์เอ็น ก็ทำกันมาอยู่แล้ว หรือแม้แต่สมัยมาราปาตานี ก็พูดถึงเรื่อง พื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ถูกหยุดไป รอบนี้ถ้าไม่จับ JCPP แล้วมาพูดเรื่องนิรโทษกรรมเลย อาจมีปัญหากับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพุทธ หรือผู้ได้รับผลกระทบ
นายรักชาติ สุวรรณ อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ย้ำ
การลงพื้นที่ในรอบกว่า 20 ปี ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า อาจเป็นการเรียกกระแสทางการเมือง มากกว่าการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนโยบายดับไฟใต้ แม้จะอยู่ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน

แต่ปฐมบทความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นในปี 2547 ในยุครัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่เหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง เหตุปะทะที่มัสยิดกรือเซะ และเหตุสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกปล่อยให้คดีหมดอายุความ และไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้ โดยเฉพาะหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญ คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็น สส.ของพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีคำถามคาค้างใจสำหรับหลายคนในพื้นที่
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว : ยังคงเพรียกหาความ “ยุติธรรม” กับความทรงจำที่ "ตากใบ"