วันนี้ (21 ก.พ.2568) ทริปดูงานประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ ของคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ที่เดินทางช่วงปี 2566 ถูกตั้งคำถามถึงระยะเวลาที่ใช้ดูงาน และการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม
น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการชุดนี้ เตรียมทิ้งทวน บินไปดูงานที่ประเทศอิตาลีก่อนหมดวาระ ซึ่ง รมว.แรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เปิดเผยว่ายังไม่ทราบเรื่อง แต่หากเดินทางไปดูงานจริง ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคม
เมื่อมีการสอบถามไปทางสำนักงานประกันสังคม ได้ข้อมูลว่า ไม่มีกำหนดการเดินทางทริปดังกล่าว โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการการแพทย์ชุดนี้ เดินทางไปดูงานปีละ 1 ครั้ง ในปี 2566 เป็นทริปอังกฤษและสกอตแลนด์ และปี 2567 เป็นทริป ไปดูงานที่ประเทศเยอรมนี
ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ชุดใหม่ รมว.แรงงาน ระบุว่าเตรียมการไว้แล้ว มีสัดส่วนของผู้ประกันตนเข้ามาเป็นกรรมการ 2-3 คน แต่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ และต้องพูดคุยแนวทางและเงื่อนไขให้ไปในทิศทางเดียวกัน
พร้อมเน้นย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นในคณะกรรมการการแพทย์ชุดนี้ ไม่สามารถรับผิดชอบได้ เพราะไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของตนเอง แต่คณะกรรมการชุดใหม่พร้อมรับผิดชอบ
อ่านข่าว : เปิดรายชื่อบอร์ดแพทย์ประกันสังคม ก่อนหมดวาระสิ้นเดือน ก.พ.
นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เชิญตนเองและสำนักงานประกันสังคม เข้าชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานประกันสังคม 4 ปีย้อนหลัง ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ว่า ไม่สามารถไปได้ เพราะต้องเดินทางไปดูงานและเจรจากับรัฐมนตรีแรงงานของฮ่องกงและมาเก๊า เกี่ยวกับการขอเพิ่มอัตราส่งแรงงานไทยไปทำงาน ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ.2568 ซึ่งเป็นนัดล่วงหน้าไว้นานแล้ว และมีความจำเป็น จึงขอให้เลื่อนวันนัด แต่หากเลื่อนไม่ได้ จะส่งตัวแทนไป

ส่วนกรณีที่ปลัดกระทรวงแรงงาน พูดว่า "การเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งกับการบริหารกองทุนประกันสังคม" นายพิพัฒน์ระบุว่าไม่กล้าก้าวล่วง ความคิด ความรู้สึกของปลัดฯ แต่มองว่า เมื่อมีฝ่ายบริหารก็ต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้เกิดสมดุล และสำนักงานประกันสังคมต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส และพร้อมให้ตรวจสอบได้ เพราะใช้เงินของผู้ประกันตน
นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ยังเปิดเผยถึง การจัดทำปฏิทินที่สำนักงานประกันสังคมกำลังเริ่มทำประชาพิจารณ์ สอบถามนายจ้าง ผู้ประกันตน และกลุ่มอาชีพอิสระ ว่าอยากได้ปฏิทินรูปแบบใด หากไม่ต้องการ ก็พร้อมยกเลิกในปี 2570 โดยตนเองเชื่อว่า ปฏิทินยังสำคัญต่อการรับรู้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40
อ่านข่าว : ปลัดแรงงาน แจงยิบ ยืนยันสิทธิรักษา "ประกันสังคม" ไม่น้อยหน้า "บัตรทอง"