วันนี้ (27 ม.ค.2568) สำนักข่าว The Korea Times และ Avitrader รายงานอุบัติเหตุเครื่องบินเจจูแอร์ เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2567 หนึ่งในโศกนาฏกรรมทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 179 คน เหลือผู้รอดชีวิตเพียง 2 คน
ล่าสุด กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ได้เปิดเผยรายงานผลสอบสวนเบื้องต้น ยืนยันว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการชนนก หรือ Bird strike แต่สาเหตุที่แน่ชัดยังอยู่ระหว่างการสอบสวน และจะส่งรายงานไปยังองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และ ไทย
ไทม์ไลน์ช่วงเวลาเกิดเหตุ
- 08:54:43 น. เครื่องบินเจจูแอร์ ติดต่อหอควบคุมการบินขณะเตรียมลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน หอควบคุมการบินอนุญาตให้ลงจอดบนรันเวย์ 01 ในทิศทางตรงข้ามกับรันเวย์ที่เกิดอุบัติเหตุ
- 08:57:50 น. หอควบคุมแจ้งเตือนนักบินถึงความเสี่ยงของการชนกับฝูงนก หลังมีการตรวจพบฝูงนกในบริเวณพื้นที่ทางเดินอากาศ
- 08:58:11 น. นักบินและผู้ช่วยนักบิน พูดคุยถึงฝูงนกที่กำลังบินอยู่ใต้เครื่องบิน ก่อนที่จะเกิดการชนกับฝูงนกที่คาดว่าเป็น "นกเป็ดน้ำสายพันธุ์ Baikal Teal" ซึ่งเป็นนกอพยพฤดูหนาว
- 08:58:50 น. กล่องดำที่ใช้บันทึกข้อมูลการบินหยุดทำงาน โดยคาดว่าเครื่องยนต์ทั้ง 2 ข้างเสียหายจนหยุดทำงานเนื่องจากการชนกับนก
- 08:58:56 น. นักบินคาดว่าส่งสัญญาณ "Mayday" เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการบันทึกเสียงนี้ไว้ในกล่องดำ
- 09:02:57 น. เครื่องบินพยายามลงจอดฉุกเฉินโดยไม่มีล้อรองรับ และไถลออกนอกรันเวย์ก่อนชนกับโครงสร้างคอนกรีตที่เรียกว่า Localiser ซึ่งเป็นระบบนำร่องการลงจอด และเกิดการระเบิดพร้อมไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง
ผลการสอบสวนเบื้องต้น
1.ผลกระทบจากฝูงนก
ผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์พบขนนกและคราบเลือดอยู่ในเครื่องยนต์ทั้ง 2 ข้าง โดยการตรวจ DNA ชี้ชัดว่าเป็นของนกเป็ดน้ำสายพันธุ์ Baikal Teal ซึ่งเป็นนกอพยพที่มักอาศัยในแถบเอเชียในช่วงฤดูหนาว
2.โครงสร้างสนามบิน
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อุบัติเหตุรุนแรงขึ้นคือโครงสร้างคอนกรีตของ Localiser ซึ่งเป็นระบบช่วยนำร่องสำหรับการลงจอด โครงสร้างดังกล่าวทำจากวัสดุแข็งแรงเกินไปและไม่ได้รับการออกแบบให้รองรับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุทางการบิน ทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการรื้อถอนและปรับปรุงโดยใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
3.การวิเคราะห์ข้อมูลจากกล่องดำ
กล่องดำหยุดบันทึกข้อมูลก่อนเครื่องบินชนพื้นดิน 4 นาที ทำให้ข้อมูลสำคัญบางส่วนสูญหาย กระทรวงคมนาคมระบุว่าต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหลือเพื่อสร้างลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด
ทีมค้นหาได้ยุติการค้นหาร่างผู้สูญหายในพื้นที่เกิดเหตุแล้ว โดยชิ้นส่วนร่างกายที่พบถูกส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อการพิสูจน์ตัวตน ครอบครัวของผู้เสียชีวิตบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยของสนามบิน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
รู้จักนกเป็ดน้ำสายพันธุ์ Baikal Teal
นกเป็ดน้ำสายพันธุ์ Baikal Teal หรือที่รู้จักในชื่อ "นกเป็ดน้ำลายสีเขียว" เป็นนกอพยพที่มักพบในแถบไซบีเรียและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในช่วงฤดูหนาว นกชนิดนี้จะบินลงใต้เพื่ออพยพมายังจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเด่นของนกชนิดนี้คือลายบนหัวที่มีสีเขียวตัดกับสีขาวและน้ำตาล แม้จะมีความสวยงาม แต่การบินเป็นฝูงขนาดใหญ่ในช่วงอพยพสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเครื่องบินได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่สนามบินตั้งอยู่ใกล้เส้นทางบินของนก
สัญญาณ "Mayday" คืออะไร ?
"Mayday" เป็นคำขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ใช้ในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิต ทั้งในทางการบินและทางทะเล โดยคำนี้มีต้นกำเนิดจากภาษาฝรั่งเศส "m’aider" ซึ่งแปลว่า "ช่วยฉันด้วย" สัญญาณนี้ต้องมีการพูดซ้ำ 3 ครั้ง เช่น "Mayday Mayday Mayday" เพื่อยืนยันสถานการณ์ฉุกเฉินและหลีกเลี่ยงความสับสนกับข้อความอื่นๆ
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ คาดว่านักบินได้ส่งสัญญาณ Mayday หลังเครื่องยนต์เสียหายและตัดสินใจลงจอดฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การบันทึกเสียงดังกล่าวไม่ปรากฏในกล่องดำ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเสียหายของระบบ
อ่านข่าวอื่น :