ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไทย" รับมือสงครามการค้าโลกเดือด “ทรัมป์” กลับมาเอาคืน

เศรษฐกิจ
27 ม.ค. 68
18:33
445
Logo Thai PBS
"ไทย" รับมือสงครามการค้าโลกเดือด “ทรัมป์” กลับมาเอาคืน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

Trade memorandum หรือ การออกบันทึกการค้า หนึ่งในคำสั่งที่ประกาศของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ประเทศไทย” มากที่สุด คือ การสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางศึกษาและประเมินสาเหตุการขาดดุลการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายค่าเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณานโยบายตอบโต้ โดยเฉพาะกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร" หรือ "เกียรตินาคินภัทร (KKP)" วิเคราะห์ว่า กรณีของไทย คือ การค้าที่ไม่เป็นธรรม จากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในระดับสูงรวมไปถึงมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ไทยจะเป็นประเทศที่ถูกติดตามโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในสหรัฐฯ

และนโยบายที่ทุกคนจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้น การขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งสร้างความวุ่นวายต่อเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายของประเทศอื่น ๆ ในหลายภูมิภาค KKP Research มองว่า นโยบายการค้าของทรัมป์อาจไม่ใช่แค่สงครามการค้าเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รวมถึงสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ต้องยอมรับว่าต่างจากทศวรรษที่แล้ว และการเตรียมรับมือแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สหรัฐฯ อาจบีบให้ไทยเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆอีกด้วย

“การค้าเสรี”เครื่องมือต่อรอง ขึ้นภาษีนำเข้า

KKP Research มองว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ อาจไม่ใช่เพื่อสร้างสง ครามการค้า แต่เป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯใช้ในการเจรจาและสร้างการค้าที่เป็นธรรมให้สหรัฐฯ มากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตาม กระแสโลกภิวัฒน์ได้สร้างต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มหาศาล โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน รวมทั้งสร้างความไม่สมดุลในดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่กุล่มประเทศหลักอื่นๆ กลับเกินดุลและแรงงานในสหรัฐจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิต และการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ และมีระบบภาษี การอุดหนุน และการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาที่สหรัฐมองว่าไม่เป็นธรรม และไม่มีกลไกในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการค้า

นี่คือ ที่มาของกระแสตีกลับในสหรัฐฯ ต่อการค้าแบบเสรีและต้องการการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นและรวมไปถึงการดึงภาคการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้ คือ จุดยืนหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ใช้ภาษีนำเข้า ต่อรอง 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก

โดยเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เจรจาการค้าที่เป็นธรรม คือ การใช้ภาษีนำเข้า ในการต่อรองกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นผู้อพยพ ยาเสพติด ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ และประเด็นการค้าและธุรกิจอื่นๆ

KKP Research มองว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐฯ จะหันมาเพ่งเล็งมากขึ้นภายใต้การนำของทรัมป์ มี 5 กลุ่มใหญ่ คือ 1.บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศและส่งสินค้ากลับไปขายผู้บริโภคในสหรัฐฯ 2.สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น 3.ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขนาดสูง ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม (และอาจจะรวมถึงไทยด้วย)

4.สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม เพื่อพยายามหลบหลีกภาษีนำเข้า และ5.ประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืออื่น ๆ

แม้ว่าเครื่องมืออย่างภาษีนำเข้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าเรื้อรังได้ทั้งหมด แต่ทรัมป์มองว่าจะใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันประเทศหรือบริษัทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่เป็นธรรม

สำหรับมาตรการที่ทรัมป์นำมาใช้กดดัน เช่น การลดมาตรการกีดกันสินค้าจากสหรัฐฯ การยกเลิกหรือลดการให้ผลประโยชน์กับบริษัทสัญชาติอเมริกาเพื่อดึงดูดการลงทุนและใช้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออก หรือการกดดันให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ หากต้องการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร มองอีกว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถผลิตสินค้าทุกอย่างเองได้ทั้งหมด แต่หากนโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและสามารถลดมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ได้  และปัจจัยดังกล่าวจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ

ไทยเป้าหมายรอง แต่ยังเสี่ยงถูกกีดกัน

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษีแต่ในมุมมอง KKP research มองว่ามีหลายประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐฯ คือการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของอาเซียน– ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดเกินดุลมากที่สุดคิดเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ทั้งหมด

แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดแต่หากสหรัฐฯ มองไทยและประเทศอื่น ในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น

ดังนั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ พร้อมกันทั้งหมดได้ โดยสินค้าของไทยที่มีการเกินดุลในระดับสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น

สินค้าเหล่านี้อาจถูกยกขึ้นมาเป็นเป้าหมายของภาษีนำเข้าและเป็นเป้าหมายในการเจรจาหากสหรัฐฯ ต้องการที่จะเล่นงานการเกินดุลการค้าของไทย

เปิดตลาดรับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้า ทางรอดไทย

สำหรับสินค้ากลุ่มที่สองที่อาจตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ คือ สินค้าที่จีนใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018 ดุลการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ พร้อมกับการขาดดุลกับจีนที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่า กิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในไทยส่วนหนึ่ง คือ การหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน

แม้ว่าจะประเมินได้ยากว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่เข้าข่ายและกิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่ารวมเท่าไหร่ แต่สินค้าอย่างแผงโซล่าเซลล์ โมเด็ม/เราเตอร์ หรือหม้อแปลงไฟฟ้า อาจเข้าข่ายสินค้าจีนใช้ตลาดไทยเป็นทางผ่านในการส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น

ข้อมูลจาก ITC Trade map แสดงให้เห็นว่าปริมาณการนำเข้าแผงโซล่าจากจีนสะสมต้องแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ทราบเป็นอย่างดีและเพิ่มมาตรการกีดกันสินค้าเหล่านี้จนกว่าแนวโน้มการส่งออกจะลดลง

สหรัฐฯ อาจถึงขั้นกำหนดว่าประเทศที่เข้าข่ายเป็นทางผ่านจะต้องพิสูจน์มูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากจีนและนั่นอาจทำให้กระบวนการทางการค้าในอนาคตมีความยุ่งยากและต้นทุนมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้อีกหนึ่งนโยบายของทรัมป์ คือ Reciprocal Trade Act หากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้าเหล่านั้น

KKP Research มองว่าสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว เพราะไทยคิดภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรมและใช้เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีกับสินค้าไทยได้

อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของทรัมป์รวมไปถึงแนวทางผลลัพธ์ของการเจรจาหากเกิดขึ้น

หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าทั้งหมดรวมถึงสินค้าไทยอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น และสินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มหดตัวและอาจทำให้บริษัทจีนย้ายฐานการผลิตออกจากไทยมากขึ้นจากความกังวลเรื่องภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ

โดยปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มนี้เกิดขึ้นแล้วในการส่งออก แผงโซล่าเซลล์ ที่ มูลค่าการส่งออกในหมวดแผงโซล่าเซลล์และอื่น ๆ ปรับตัวลดลงกว่า 80% สาเหตุเพราะบริษัทจีนเริ่มย้ายฐานการส่งออกออกจากไทยและย้ายไปตั้งฐานการส่งออกที่ลาวและอินโดนีเซียมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าทีสูงขึ้น

ไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจต้องเลือกระหว่างลดภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันอื่นในกลุ่มสินค้าอื่นๆเช่น กลุ่มสินค้าเกษตร เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ หรือสินค้าส่งออกไทยอาจเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวิธีที่สหรัฐฯ อาจยอมลดภาษีนำเข้ากับไทย คือ ไทยอาจต้องยอมเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อไก่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ยกขึ้นมาในการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ CPTPP ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะหากเปิดตลาดให้สหรัฐฯนำเข้า อาจกระทบกับราคาผู้ผลิตภายในประเทศ

แนะไทยใช้ "กลยุทธ์" เจรจา-ต่อรอง

ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร มองว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ เตรียมแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น สหรัฐฯ น่าจะต้องการอะไรจากไทย และมีสิ่งใดที่ไทยจะสามารถนำเสนอต่อสหรัฐฯ และผลกระทบในแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน

บทเรียนสำคัญในทุกการเจรจาข้อตกลงการค้า คือ ทุกข้อตกลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์อยู่ กรอบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และจีนควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยไทยในหลายมิติทั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้แตกต่างจากสง ครามการค้ารอบแรก ในปี 2018 อย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจจีนที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อนจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกและไทย

รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนที่อาจไม่กลับมาโตได้ดีเท่าเดิม สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อดุลการค้าที่ไทยอาจไม่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ ได้มากเท่าในอดีตอีกต่อไป

อ่านข่าว:

 ส่งออกไทยปี 67 ทะลุเป้า 5.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

“ทรัมป์” คืนบังลังก์ เขย่า “เทรดวอร์” สงครามการค้าสะเทือนทั่วโลก

TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยปี68 “ไม่ตายแต่ไม่โต” มรสุมการค้า-สงครามทำโลกปั่นป่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง