วันนี้ (23 ม.ค.2568) นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กฎหมายอุ้มบุญ เพื่อรองรับการมีบุตรตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า เนื้อหาสาระที่มีการปรับแก้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุญาตให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติสามารถเข้ามาใช้วิธีตั้งครรภ์แทนในประเทศไทยได้ แต่คนที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นคนสัญชาติเดียวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดของคู่สมรส
รวมถึงแก้ไขประเด็นที่สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จากเดิมใช้นิยามว่า "สามีและภรรยา" ขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็น "คู่สมรส" ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่เป็น ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง สามารถให้ทำการอุ้มบุญแทนได้ นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้เพิ่มเติมกรณีมีความจำเป็น หรือมีความต้องการที่จะมีบุตรและเป็นไปตามเงื่อนไข ก็อาจจะพิจารณาให้ตั้งครรภ์แทนได้เป็นกรณีไป
อ่านข่าว : ก้าวสำคัญ "สมรสเท่าเทียม" ก้าวต่อไปความท้าทายแก้กฎหมายเพิ่ม
ขณะที่หญิงที่จะตั้งครรภ์แทน ต้องไม่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดารของคู่สมรส โดยต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ส่วนกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิต อาจให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนได้ จะมีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อป้องกันกระบวนการทางการค้าหรือจ้างตั้งครรภ์
ส่วนกรณีที่คู่สมรสอาจมีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติแต่มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ และเข้ามาทำอุ้มบุญในประเทศไทย แม่อุ้มบุญสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่นั้น อธิบดี สบส. ระบุว่า ร่างที่ขอแก้ไขใหม่สามารถเดินทางออกไปต่างประเทศได้ รวมถึงการนำไข่ อสุจิ ตัวอ่อน ของคู่สมรสชาวต่างชาติออกนอกประเทศได้ แต่จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโดยคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้แก้ไขในกรณีคนโสดหรือหญิงที่ไม่ได้สมรส ต้องการมีลูก แม้ในสังคมปัจจุบันจะพบว่าผู้หญิงอยากมีลูก แต่ไม่อยากแต่งงาน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในอนาคตก็คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มประเด็นเหล่านี้ด้วย
สบส.ย้ำเงื่อนไขการตั้งครรภ์แทน
สอดคล้องกับ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ จะเปิดโอกาสให้คู่สมรสเพศเดียวกัน ผู้หญิงที่มีลูกยากและผู้หญิงอายุ 48 ปีขึ้นไปที่ต้องการมีลูก แต่ตั้งครรภ์ไม่ได้ สามารถใช้เทคโนโลยีการตั้งครรภ์แทนเพื่อมีลูกได้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศที่จะเพิ่มอัตราการเกิด โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้ระยะเวลาปรับแก้ประมาณ 4 ปี
อ่านข่าว : "สมรสเท่าเทียม" เปิดประตูคู่รัก สิทธิมรดก-การยินยอมทางการแพทย์
ส่วนเงื่อนไขการตั้งครรภ์แทนของคู่สมรสเพศหลากหลาย ผู้หญิงที่มีลูกยากและผู้หญิงอายุ 48 ปีขึ้นไป สามารถทำอุ้มบุญได้ โดยต้องให้ญาติหรือคนรู้จักตั้งครรภ์แทน ซึ่งผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์แทนต้องมีอายุ 20-35 ปี และไม่สามารถใช้ไข่ของผู้ตั้งครรภ์แทนได้ เพื่อลดปัญหาความผูกพันทางสายเลือด แต่จะใช้ไข่ของผู้หญิงหรือไข่ของผู้หญิงที่บริจาค หรืออสุจิที่บริจาค ส่วนการจ้างผู้หญิงมาตั้งครรภ์แทนถือว่าผิดกฎหมาย
คู่สมรสจะทำข้อตกลงตั้งครรภ์แทน ในระหว่างตั้งครรภ์แทนจะมีค่าบำรุงครรภ์ให้ตามตกลง
เปิดทางคู่สมรสต่างชาติทำ "อุ้มบุญ" ในไทย
รองอธิบดี สบส. ย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้คู่สมรสชาวต่างชาติสามารถมาใช้วิธีการตั้งครรภ์แทนในไทยได้ จากกฎหมายเดิมที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยเท่านั้น แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ปรับแก้โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสัญญาติเดียวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่สมรส ผู้หญิงไทยไม่สามารถตั้งครรภ์แทนได้ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์
รวมทั้งเด็กที่เกิดมาจะต้องมีหลักฐานยืนยันจากประเทศต้นทาง เช่น มีกฎหมายรองรับสิทธิเด็กต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรส และมีการยืนยันจากสถานทูตที่ต้องรับรองว่ามาตั้งครรภ์แทนในประเทศไทย
ผู้หญิงตั้งครรภ์แทนเป็นคนนี้ จากเชื้อชาตินี้ เด็กที่จะไปคลอดที่ประเทศนี้ กฎหมายต้องให้การรับรองสิทธิเด็กว่าเด็กเป็นบุตรของคู่สมรสคู่นี้
ส่วนการดูแลเด็กหลังคู่สมรสเสียชีวิต จากเดิมกฎหมายอุ้มบุญระบุว่า ในกรณีพ่อแม่เสียชีวิตทั้งคู่ จะให้สิทธิผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ปกครอง แต่ร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ ฉบับนี้มีการปรับแก้ให้คู่สมรสต้องกำหนดผู้ปกครองล่วงหน้า ก่อนมีการใช้เทคโนโลยีตั้งครรภ์แทน เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงตั้งครรภ์แทนส่วนใหญ่มีฐานะไม่ดี ดังนั้นผู้ดูแลเด็กต้องเป็นคนมีศักยภาพหรือญาติพี่น้อง เพราะเรื่องนี้มีมรดกเข้ามาเกี่ยวข้อง
ร่างกฎหมายอุ้มบุญ เพิ่มโทษปรับ
ร่างกฎหมายอุ้มบุญ ยังเพิ่มบทบัญญัติสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ผู้รับผิดชอบและนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลตัวอ่อน รวมทั้งยังเพิ่มอัตราโทษปรับ จากเดิม 20,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท และยังได้เพิ่มค่าธรรมเนียมระเบียบสำหรับการเปิดบริการตั้งครรภ์แทน เพื่อนำรายได้เข้าสู่รัฐ
รองอธิบดี สบส. ระบุอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเสนอเรื่องไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม จากนั้นส่งต่อไปที่สำนักเลขารัฐมนตรี เข้าสู่วาระการประชุม ครม. และหาก ครม.เห็นชอบด้วยหลักการแล้วก็เสนอไปที่กฤษฎีกา หากเห็นชอบแล้วก็ส่งเรื่องไปที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาฯ จะส่งไปให้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันก่อน และจะเข้าสภาฯ อีกครั้งเพื่อเห็นชอบก่อนบังคับใช้ คาดว่าจะใช้เวลาแล้วเสร็จประมาณ 6 เดือน
อ่านข่าว
OHCHR ยินดีไทย บังคับใช้ กม.สมรสเท่าเทียม