กรณีกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี โดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย แต่ปมเหตุแท้จริงคือตรวจสอบพบว่า โรงงานเปิดรับอ้อยไฟไหม้ปริมาณมากเกินกำหนด เป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยโรงงานนี้รับซื้ออ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงที่สุดถึง 43.11% หรือกว่า 410,000 ตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 41,000 ไร่
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดร-บ้านผือ กดดันให้โรงงานยอมรับซื้ออ้อยที่ตกค้างมาตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. หลังจากโรงงานไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้
ภาพจาก กระทรวงอุตสาหกรรม
เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดร-บ้านผือ เปิดเผยว่า นโยบายรับซื้ออ้อยสด 75% อ้อยไฟไหม้ 25% เป็นการมัดมือชก เป็นการออกระเบียบกะทันหัน ทำให้เกิดการตกค้างของอ้อยหน้าลานรับซื้อเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ชุดนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายจากอ้อยเน่าและคุณภาพความหวานลดลง
อยากให้เห็นใจเกษตรกรที่ต้องขายอ้อยไฟไหม้ เพราะต้องการลดต้นทุนทั้งค่าจ้าง เวลาและขาดแคลนแรงงาน
รวมทั้งมาตรการจูงใจของภาครัฐก็ไม่ตอบโจทย์ชาวบ้าน หากต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงต้องกำหนดราคารับซื้ออ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ ต่างกันอย่างน้อยตันละ 200-300 บาท
อ่านข่าว : เสี่ยงระเบิด! ก.อุตฯ สั่งปิด รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าไทยอุดรฯ
แม้มาตรการลดเผาอ้อย ให้เงินอุดหนุน ให้อุปกรณ์ช่วยตัดอ้อยและขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลงดซื้ออ้อยเผา จะทำมาหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ใช้มาตรการเด็ดขาดปิดโรงงานน้ำตาล แม้ไม่มีกฎหมายเอาผิดโดยตรงเกี่ยวกับการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ แต่ถือว่าเป็นมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่โรงงานน้ำตาล 58 แห่งต้องปฏิบัติตาม ไม่รับอ้อยไฟไหม้เกิน 25% ของปริมาณอ้อยที่รับซื้อเข้าโรงงานทั้งหมดนับตั้งแต่เปิดหีบฤดูกาลนี้
5 ปีก่อนหน้านี้ อ้อยที่เข้าสู่โรงงานน้ำตาลทรายมีมากถึง 60% จนมีความพยายามแก้ปัญหา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลด PM2.5 ในอากาศ มาถึงปีนี้อ้อยไฟไหม้ลดลงมาก ขณะนี้อยู่ที่ 15% แต่ยังไม่ใช่สิ่งการันตีว่าอากาศจะดี เพราะคิดเป็นพื้นที่ยังถือว่าเป็นการเผาในที่โล่งพื้นที่กว้างขวาง
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 ม.ค.2568 พบโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
ก.อุตฯ หนุนตัดอ้อยสด เพิ่มราคารับซื้อใบ-ยอดป้อนโรงไฟฟ้า
สำหรับหนึ่งในมาตรการที่เชื่อว่าจะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี โดยเสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท สร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะจ่ายเงินให้เฉพาะเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล พร้อมขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM2.5
อ่านข่าว : "แพทองธาร" ขันน็อตรายกระทรวงแก้ฝุ่น PM2.5 รายงานตรง
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม มีมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยระยะเร่งด่วน จะผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อย, สนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืมไปใช้สางใบอ้อยทดแทนแรงงานคน, ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร, ชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย
นอกจากนี้ยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขอรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 120% ของเงินลงทุน กรณีโรงงานน้ำตาลลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อสนับสนุนลดฝุ่น PM2.5 จากภาคการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อติดตามและลดการเผาอ้อย
ส่วนมาตรการระยะยาว จะกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต่ำของโรงงาน, กำหนดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ไม่เกิน 25%, มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี ฤดูการผลิตปี 2567/2568 - ปี 2569/2570 และมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 (แผน 3 ฤดูการผลิต)
อ่านข่าว
ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 60 พื้นที่ กทม. แนวโน้มเพิ่มขึ้นสลับลดลง